รมว.กระทรวงดิจิทัล ส่งสัญญาณให้ กสท โทรคมนาคม เร่งทำแผนการตลาดเชิงรุก บุกลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ชิงโอกาสเป็นผู้นำตลาดกลุ่ม CLMVT ที่มีตลาดใหญ่ถึง 250 ล้านคน ดูดเงินลงทุนจีน ญี่ปุ่นเข้าไทย พร้อมมอบหมายให้เขียนหนังสือถอดบทเรียนช่วยเหลือ 13 หมูป่า สร้างองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์สูงสุดรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดฯ เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับฟังความคืบหน้าโครงการเคเบิลใต้น้ำของบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนให้ 5,000 ล้านบาท ในการเพิ่มความจุทั้งภายในประเทศ ส่วนที่ติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา รวมทั้งในการวางสายใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศจีน
พร้อมกันนี้ ได้ให้นโยบาย กสท โทรคมนาคม จัดทำแผนการตลาดเชิงรุกว่า จะเพิ่ม capacity ของ demand ได้อย่างไร ทั้งตลาดภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการมุ่งลงทุนแต่ในประเทศไม่เพียงพออีกต่อไป สำหรับยุคที่มีการก้าวกระโดดของเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มเห็นการที่มีประเทศใหญ่อย่างจีน เข้ามาบุกลงทุนด้านดิจิทัลในกัมพูชาแล้ว
“จุดประสงค์เงิน 5,000 ล้านบาทที่รัฐบาลให้กับโครงการนี้ เพื่อเป็นตัวชักนำให้เพิ่มเศรษฐกิจ กสท โทรคมนาคม จะเป็นองค์กรด้านวิศวกรรมอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป ต้องเป็นด้านการค้า (Commercial) ด้วย” ดร.พิเชฐกล่าว
ปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจชัดเจนว่า วันนี้ต้องพูด CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย) เนื่องจากมีขนาดของตลาดถึง 250 ล้านคน ซึ่งจะเป็นขนาดที่ต่างกันอย่างมากถ้าเทียบตลาดในประเทศไทย 67 ล้านคน ดังนั้น เวลาที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญในไทย อย่างเช่น จีน หรือญี่ปุ่น ถ้าชูจุดเด่นเรื่อง CLMVT ก็จะดึงดูดการลงทุนได้ เมื่อมองในแง่ความคุ้มค่าทางธุรกิจและการลงทุนต่างๆ
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังขายจุดนี้ และในปี 2562 จะขายได้ดียิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ทั้งนี้ ตลาดบริการด้านสื่อสารและโทรคมนาคม เปิดเสรีขึ้น และปัจจุบันไม่ได้มีข้อจำกัดกีดกั้นเอกชน ดังนั้น หาก กสท โทรคมนาคมยังอยู่เฉยก็จะมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกไปมองหาตลาดประเทศอื่น และทำให้เปิดกว้างบ้าง เพราะถ้าไปช้าและตลาดเข้าสู่ภาวะเติบโตเต็มที่แล้วก็จะหมดโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ยิ่งต้องคิดเรื่องนี้ เพราะตลาดต่างประเทศจะเป็นหน้าที่ที่ชัดเจนของ กสท
ทุกวันนี้มีช่องว่างก็คือ กสท ไม่มีจุดเชื่อมโยงของ story ระหว่างฝั่งซัพพลาย และสิ่งที่เศรษฐกิจกำลังเกิด เศรษฐกิจมีการไปเจรจาด้านการค้าการลงทุน แต่มองไม่เห็นโครงสร้างพื้นฐานที่ กสท มีอยู่ ขณะที่ กสท ก็ไม่ได้เข้าไปเชื่อมต่อกับฝั่งเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แม้ว่าจะเป็นฝั่งซัพพลาย เช่น ในเรื่องโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ แบนด์วิธที่มีพร้อมให้บริการ
“กสท โทรคมนาคม รวมทั้งทีโอที จำเป็นต้องต้องรู้ว่าเศรษฐกิจจะไปในทิศทางใด และสามารถเข้าไปแทรกช่องว่างที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร โอกาสทางธุรกิจอยู่ที่ไหน เพราะนี่คือโอกาสอยู่รอดทางธุรกิจของทั้งสององค์กร เพราะในอนาคตจะไม่สามารถเป็นเพียงผู้ขาย “โครงสร้างพื้นฐาน” อย่างเดียวอีกต่อไป” รมว.กระทรวงดิจิทัลกล่าว
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเสริมว่า กสท โทรคมนาคม มีความได้เปรียบในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนในตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการระหว่างประเทศ มีเครือข่าย และรู้จักผู้ให้บริการโทรคมนาคมของประเทศเพื่อนบ้าน จึงควรต้องทำ เพราะตลาดเพื่อนบ้านน่าจะเป็นตลาดของ กสท
นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ยังได้รับฟังรายงานการสนับสนุนปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่า 13 ชีวิต ของ กสท โทรคมนาคม และทีโอที ทั้งการติดตั้งโทรศัพท์ และระบบอินเทอร์เน็ตในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากและวิกฤติ ด้วยใจและความสามารถทางเทคนิคก็ทำให้พนักงานทำได้สำเร็จ
“ในเรื่องหมูป่า เราได้ให้คำแนะนำกับ กสท ไปว่า เขียนหนังสือสักเล่มว่า ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง จนกระทั่งช่วยหมูป่าออกมาสำเร็จ เป็นการถอดบทเรียนทั้งในแง่ว่า ทำไมถึงสำเร็จ และทั้งในแง่ปัญหาอุปสรรคที่พบ หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่ในอนาคตก็อาจได้ใช้บทเรียนนี้เป็นประโยชน์” ดร.พิเชฐกล่าว
นอกจากนี้ ยังมองไปถึงอนาคต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ก็จะจัดให้มีการวางแผนอย่างเป็นระบบว่า ในยามวิกฤติ เช่น แผ่นดินไหว พายุเข้า น้ำท่วม เป็นต้น ระบบดิจิทัลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร ซอฟต์แวร์ และดาวเทียม จะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และจะมีการวางแผนเป็นขั้นตอนอย่างละเอียดได้อย่างไร เพื่อที่เมื่อถึงเวลานั้น กระทรวงฯ สามารถดำเนินการสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และช่วยชีวิตคนได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์สูงสุดรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติ เพื่อให้การสื่อสารในช่วงเวลาภัยพิบัติทำได้คล่องตัว
ตัวอย่างชัดเจน คือ เมื่อไฟฟ้าถูกตัดขาด อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ สามารถนำเทคโนโลยีอื่นมาสนับสนุนการติดต่อสื่อสารได้ ส่วนหนึ่งของคำตอบก็คือ การใช้ดาวเทียม และวิทยุที่สามารถรับและส่งสัญญาณได้ เป็นต้น