นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)กระทรวงคมนาคมได้รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน ตามนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรวบรวมปริมาณการนำยางพารามาก่อสร้างถนนและซ่อมบำรุงถนนที่ชำรุดเสียหาย ตามข้อร้องเรียนของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในปี 2559 และจะพิจารณางานในปีงบประมาณ 2560-2561 ด้วย โดยเบื้องต้นในปี 2559 จะใช้ยางพาราจำนวน 20,000 ตันแน่นอน และจะพิจารณาเพิ่มปริมาณยางพาราอีก
ซึ่งการนำยางพาราธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนผสมในขั้นตอนของการฉาบผิวถนนหรือพาราสเลอร์รีซิลนั้นจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการประกวดราคา แตกต่างกับการใช้แอสฟัลต์คอนกรีต (asphalt concrete) ซึ่งไม่มีปัญหาในการประกวดราคา แต่ยอมรับว่าในภาพรวมจะทำให้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่อายุการใช้งานของถนนที่ใช้พาราแอสฟัลติกจะยาวนานกว่า
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สรุปข้อมูลการใช้ยางพาราสำหรับทำถนนบริเวณที่เป็นจุดตัดกับทางรถไฟ จากเดิมที่ใช้บล็อกคอนกรีต ให้ปรับมาเป็นพาราแอสฟัลติกทั้งหมด ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานกว่า ทั้งนี้ การใช้ยางพารามาทำผิวถนนนั้นจะใช้ส่วนที่เป็นน้ำยางข้น ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% อีก 70% จะเป็นยางแผ่น โดยภาพรวมของกระทรวงคมนาคมคาดว่าในปี 2559 จะใช้ยางพาราประมาณ 60,000 ตัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า งานก่อสร้างถนนและซ่อมบำรุงของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทในปีงบประมาณ 2559 จะใช้ปริมาณยางพารา 20,000 ตัน โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ปรับเพิ่มการใช้ปริมาณยางพาราให้ได้อีกประมาณ 37,000 ตัน ซึ่งจะมีการเสนอ ครม.พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 26,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการบูรณะถนนด้วยพาราแอสฟัลต์ในปี 2560-2561 ที่มีแบบและมีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันทีของกรมทางหลวง 16,000 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราตามนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง