กระทรวงพลังงานให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันเร่งด่วน ด้วยการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าโดยให้ กฟผ.รับซื้อในปริมาณ 160,000ตันเป็นเงิน 2880 ล้านบาทยืนยันไม่กระทบค่าไฟประชาชนพร้อมนำน้ำมันปาล์มดิบผสมในไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น
ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำกระทรวงพลังงานได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือการใช้น้ำมันปาล์มดิบด้วยการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่ง กระทรวงพลังงานมอบหมายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากพื้นที่แหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร เป็นต้น ในปริมาณ 160,000 ตัน เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกฟผ. จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ในราคา 18 บาท/กก. ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง ทั้งนี้จะร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดหาจากเกษตรกรผู้ผลิตที่ลานเท และโรงสกัดที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเริ่มรับซื้อตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป และใช้ในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562 วงเงินในการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 2,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าค่าไฟฟ้า 1,354 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะได้รับชดเชยต้นทุนจากกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท และอีก 829 ล้านบาท จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ.โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในภาคขนส่งด้วยการเพิ่ม
การผสมน้ำมันไบโอดีเซล ที่สัดส่วน 7 % จะทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น 80,000 ตัน/ปี
ในส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล บี 20 มีการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะใช้น้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 500,000 – 600,000 ตัน/ปี โดยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตั้งเป้าหมายการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ประมาณ 200,000 ตัน
จากทั้ง 2 มาตรการดังกล่าวข้างต้น จะทำให้มีการดูดซับน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ ประมาณ 400,000 ตัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มส่วนเกิน
อย่างไรก็ตามแม้มาตรการดังกล่าวจะสามารถลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสู่ระดับปกติและพยุงราคาปาล์มทะลายให้อยู่ระดับราคา 3.25 บาท/กก. ได้ แต่เกษตรกรยังไม่ควรเพิ่มผลผลิตปาล์มทะลายในระยะนี้