ทั้งนี้ จากกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ให้ความเห็นกับการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของรัฐบาล ว่า เป็นโครงการที่ขาดการตรวจสอบการผลสำเร็จในโครงการ รวมถึงใช้เงินในโครงการทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยไม่สอบถามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้กระทรวงมหาดไทย ต้องออกโรงมายืนยัน ว่า ไทยนิยมฯ เดินเครื่องใช้งานได้จริง โชว์ผลงานกระจายความมั่งคั่งไปสู่ฐานรากทั่วประเทศ
โดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย และ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นข้อกล่าวหาโครงการไทยนิยม ยั่งยืนว่ากระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด คือ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดเพชรบูรณ์ ในส่วนของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท) ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบนั้น พบว่าไม่มีการดำเนินการตามที่กล่าวถึงและโดยหลักการของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน นั้น ห้ามนำเงินไปซื้อครุภัณฑ์อยู่แล้ว ทั้งนี้ จะได้ตรวจสอบโครงการในส่วนของหน่วยงานอื่นว่ามีการดำเนินการหรือไม่อย่างไร
การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เป็นโครงการสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันตัดสินใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาในการพัฒนาและแก้ปัญหาชุมชนภายใต้พื้นฐานความต้องการของตนเอง รวมถึงการสร้างโอกาสทางอาชีพเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ซึ่งโครงการได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ผ่านโครงการหมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท มียอดการเบิกจ่ายทั่วประเทศแล้วจำนวนกว่าร้อยละ 99 หรือคิดเป็นงบประมาณกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้สามารถแก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่ ต่อยอดโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนผ่านโครงการที่เสนอและดำเนินการโดยประชาชน เช่น ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการท่องเที่ยว ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ศาลาอเนกประสงค์ และลานตากผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากจะเกิดการพัฒนาความเจริญในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนต่อยอดกิจกรรม/โครงการที่นำรายได้มาสู่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย
สำหรับในส่วนของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งมีจุดเน้นคือ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยการผสมผสานวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และเรื่องราวที่มีมนต์เสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ ผ่านกรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน คือ การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งได้ดำเนินการแล้วใน 3,273 หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ รวม 32,730 ผลิตภัณฑ์ ขณะนี้เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 3.1 พันล้านบาท ทำให้พื้นที่ได้พัฒนาชุมชนของตนเองและเกิดรายได้จากสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่
ด้านผลงานการขับเคลื่อนสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน จังหวัดสตูล ณ บ้านห้วยมะพร้าว ตำบลละงู คืออีกหน่วยตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงผลงานจองโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน เนื่องจากกชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณ 2 แสนบาท ตามโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน และจัดทำโครงการตามความต้องการของประชาชนในชุมชนเป็นสำคัญ พร้อมส่งเสริมอาชีพและจัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าบ้านห้วยมะพร้าว
เนื่องจากอดีตประชาชนในบ้านห้วยมะพร้าวมีอาชีพเชิงเดียวคือการตัดยางเพียงอย่างเดียว ซึ่งรายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย ด้วยเหตุนี้ทางชุมชนจึงได้รวมทำประชาคมชุมชนและมีมติเห็นชอบเลือกโครงการเพาะเห็ดนางฟ้าบ้านห้วยมะพร้าว เป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพในชุมชน หลังจากที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”
เช่นเดียวกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขับเคลื่อนของผู้นำท้องถิ่น ร่วมกับความเข้มแข็งของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งได้พัฒนาเพื่อให้ได้คัดเลือกเข้าเป็น 1 ใน 25 หมู่บ้านท่องเที่ยว otop นวัตวิถีของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน และยังได้รับการประเมินให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสิทธิชัย ไทยเจริญ นายอำเภอพนใ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าาว่า อำเภอพนม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามเป็นต้นทุนหลัก และมีจุดเด่น ในการเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรอันดับ 1 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นทุนชุมชน จึงได้นำมาเชื่อมโยงกัน ผ่านภูมิปัญญาของท้องถิ่น จนพัฒนาเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของพื้นที่
โดยขั้นตอนแรกดำเนินการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดก่อนเป็นขั้นแรก โดยคนในพื้นที่ร่วมมือช่วยกันสร้าง จัดงบซื้อก้อนเชื้อเห็ดและได้รับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอละงู สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล เข้ามาให้ความรู้ คำแนะนำแก่สมาชิกในการเพาะเห็ดนางฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ส่วนในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มได้จัดเวรสมาชิก มีทั้งหมด 43 คน ดูแลโรงเห็ดประมาณ 6-7 คนต่อวัน
เมื่อมีผลผลิตก็นำไปจำหน่ายสู่ตลาด และยังสามารถนำไปแปรรูปเห็ด เช่น ข้าวเกรียบเห็ด เห็ดทอด ห่อหมกเห็ด เป็นต้น รายได้ที่ได้รับนำมาปันผลให้แก่สมาชิกทุกเดือน ในที่ประชุมประชาคมของชุมชนโดยจัดประชุมเดือนละครั้ง ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดการเรียนรู้ในการเพาะเห็ดนางฟ้าจนสร้างอาชีพได้ ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีความเข้มแข็งในชุมชน และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการไทยนิยม ยั่งยืน อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดันธุรกิจแฟรนไชส์เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน พร้อมจัดงาน “แฟรนไชส์สร้างอาชีพ” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อชุมชนหรือประชาชนที่ต้องการสร้างงานสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ว่างงาน และผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง รวมถึง เป็นการช่วยลดการพึ่งพาสวัสดิการของภาครัฐในอนาคตสามารถเข้าถึงอาชีพที่สร้างรายได้สูงอีกด้วย
โดยเงินในการลงทุนซื้อแฟรนไชส์ทางกระทรวงพาณิชย์จะคัดสรรที่ไม่แพงเกินไปโดยจะเริ่มที่ 4,990 บาท เป็นต้นไป ทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มาก ก็สามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้ ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินร่วมให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย โดยจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษอีกด้วย
ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับเป็นโครงการที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากได้มีการสอบถามความเห็นคนในชุมชนถึงความต้องการในมิติต่าง จึงสามารถสร้างอาชีพที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการได้ ทำให้รายได้ของที่เกิดขึ้นเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ทำให้ฐานรากสามารถเข้าถึงโครงการสร้างอาชีพด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในการเข้าถึงโครงการอีกช่องทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากพบปัญหาของการดำเนินโครงการหรือชุมชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องทุกข์ผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ทางสายด่วนหมายเลข 1567 หรือแอปพลิเคชั่น SPOND ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม รับเรื่องและติดตามตรวจสอบอย่างละเอียดทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแน่นอน