นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การวินิจฉัยศัตรูพืช และการจัดการศัตรูพืชนั้น มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการเกษตรอย่างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ตลอดจนให้บริการทางการเกษตร ตามสภาพปัญหาและความต้องการของเกษตรกร เช่น บริการตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำในการจัดการศัตรูพืช โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่อารักขาพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานอารักขาพืชได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ และให้คำแนะนำในฐานะหมอพืชแก่เกษตรกรได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
กรมส่งเสริมการเกษตรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านอารักขาพืชที่ชัดเจน โดยมีกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย เป็นศูนย์กลาง มีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช 9 ศูนย์ กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านอารักขาพืชอยู่ในทุกอำเภอและจังหวัด ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 นี้
กรมส่งเสริมการเกษตรจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่อารักขาพืช หลักสูตรการเป็นหมอพืชและการดำเนินงานคลินิกพืช โดยเริ่มจัดขึ้นที่ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2561 และจัดจนครบทั้ง 4 ภาค ในต้นปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดแนวทาง การพัฒนา วางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอารักขาพืชให้มีประสิทธิภาพเป็นทิศทางเดียวกัน
สำหรับ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น มีการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการให้บริการคลินิกพืช ใน 3 จุด คือ จุดที่ 1 กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา หมู่ที่ 3 ต.ดอนหัน จุดที่ 2 ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 8 ต.หนองตูม จุดที่ 3 แปลงใหญ่ไม้ผล (ฝรั่ง) หมู่ที่ 4 ต.บึงเนียม มีหมอพืชเข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้น 109 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ หนองคาย เลย ชัยภูมิ และสุรินทร์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จ.ขอนแก่น (สสก.ที่ 4) และ สสก.ที่ 7 จ.นครราชสีมา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตเรียนรู้อาการผิดปกติของพืชจากสาเหตุต่าง ๆ เทคนิค
การวินิจฉัยศัตรูพืช ความแตกต่างของการวินิจฉัยศัตรูพืชในแปลงและห้องปฏิบัติการ การจัดการศัตรูพืช การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืช ตลอดจนการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการให้บริการคลินิกพืช
ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่สำหรับการผลิตพืชมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ถือครองทางการเกษตรทั้งหมด จำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรมีมากกว่า 7.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับการเข้าทำลายของศัตรูพืชทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้พืชอ่อนแอ ผลผลิตการเกษตรเกิดความเสียหายและมีปริมาณลดลง จึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพในการจัดการศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และยกระดับมาตรฐานการผลิตของเกษตรกร