กฟผ. รับมอบรถยนต์ไฟฟ้า กฟผ. – สวทช. (i-EV) จากโครงการวิจัยรถไฟฟ้าดัดแปลง ระยะที่ 2 ร่วมกับ สวทช. ที่พัฒนาให้สามารถวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตรต่อการชาร์ต 1 ครั้ง ใช้ต้นทุนดัดแปลง 2 แสนบาท พร้อมตั้งเป้าปี 2563 สามารถจัดทำพิมพ์เขียวต้นแบบและขยายผลเชิงพาณิชย์
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ยานยนต์ไฟฟ้าจะ เข้ามามีบทบาทในอนาคต อีกทั้งรถที่ผ่านการใช้งานมานานแล้วอาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กฟผ. จึงมุ่งมั่นผลักดันโครงการวิจัยรถไฟฟ้าดัดแปลงให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีศักยภาพของประเทศสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สนองนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคในอนาคต
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า กฟผ. – สวทช. (i-EV) ต้นแบบคันที่ 1 เป็นรถยนต์ยี่ห้อ Nissan Almeraซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ ในโครงการวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ระยะที่ 2 จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าฯ ทั้งหมด 4 คัน หลังประสบผลสำเร็จในการพัฒนารถยนต์ Honda Jazz เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบรุ่นแรก จากโครงการวิจัยยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 1 และสามารถนำมาใช้งานได้จริงเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งโครงการวิจัยนี้มุ่งพัฒนาดัดแปลงรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานมานานแล้วให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้ชุดอุปกรณ์ดัดแปลง (EV Kit) ซึ่งถูกพัฒนาต้นแบบและกำหนดค่าอัตโนมัติต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง และมีต้นทุนดัดแปลงถูกลงไม่เกินคันละ 2 แสนบาท ไม่รวมแบตเตอรี่ ซึ่งถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่ปัจจุบันยังมีราคาสูงถึงคันละ 3 – 4 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2563 กฟผ. ตั้งเป้าการพัฒนาให้เกิดศูนย์บริการดัดแปลงรถไฟฟ้า และถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมพิมพ์เขียวให้กับบริษัทรถยนต์และอู่ติดตั้ง เพื่อนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ให้มีระดับราคาที่ประชาชนเป็นเจ้าของได้
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กฟผ. กับ สวทช. มีความตั้งใจร่วมกันในการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (Modified EV) สำหรับประเทศไทย สำหรับวันนี้ สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ส่งมอบรถยนต์นิสสัน อัลมีร่า ขนาดเครื่องยนต์ 1200 ซีซี ที่พัฒนาและดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า มีกำลังส่งออกสูงสุดของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ 61.86 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มประมาณ 12 – 15 ชั่วโมง ณ เครื่องอัดประจุแบบ normal charge หรือที่เราเห็นทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดโครงการ จะสามารถอัดประจุแบบเร็ว ด้วยไฟฟ้า 3 เฟส (fast charge) โดยใช้เวลาอัดประจุเพียง 2 – 3 ชั่วโมงเท่านั้น ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ในระยะทางประมาณ 150 - 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง (ด้วยการวิ่งความเร็วเฉลี่ย 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) สวทช. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยผ่านการวิจัยและพัฒนามาอย่างเข้มข้นจนสามารถนำมาใช้งานได้จริงบนท้องถนน นอกจากนี้ สวทช. ยังพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจการพัฒนารถยนต์ที่ใช้แล้วมาดัดแปลงเป็น “รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง” ต่อไป เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศและลดมลภาวะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม