ครม.อนุมัติ ปตท.สผ.ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอรวัณ เสนอราคาให้รัฐดีสุด คาดลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะประมูล ก.พ.62
ดร.ศิริ จิระพันธ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดหนองคาย ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์นี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจก๊าซในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 หรือแปลงเอราวัณ และ ยังเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญา แบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 หรือแปลงบงกชด้วย
ดร.ศิริ กล่าวว่า บริษัท ปตท.สผ.ดีเวลลอปเม้นท์ ได้รับสัมทานก๊าซแปลงเอราวัณและแปลงบงกช เนื่องจากเสนอเงื่อนไขดีกว่าให้กับรัฐบาล ทั้งแปลงเอราวัณที่เชฟรอนได้สิทธิ์เดิมและแปลงบงกชที่ ปตท.สผ.ได้สิทธิ์อยู่เดิม โดยเสนอแข่งขันกัน 4 ประเด็น คือ แปลงเอราวัณ เสนอราคาก๊าซ 116 บาทต่อล้านบีทียู แบ่งกำไรให้รัฐ 68% โดยขอรับส่วนแบ่ง 32 %เท่านั้น แม้ตามกฎหมายสามารถได้รับส่วนแบ่งสูงถึง 50% วนโบนัสและผลประโยชน์พิเศษ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยก็สูงตั้งแต่ปีแรกถึง 91% ส่วนแปลงบงกช เสนอราคาก๊าซ 116 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็นราคาเดียวที่เสนอไว้ที่แปลงเอราวัณ โดยขอรับส่วนแบ่ง 30% ใช้พนักงานคนไทยตั้งแต่ปีแรก 99 %
ทั้งนี้ ราคาขายก๊าซแปลงบงกชปัจจุบันตามสัญญาขาย 214 บาทต่อล้านบีทียู ราคาเสนอประมูลใหม่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ครั้งนี้ต่ำกว่าราคาซื้อขายปัจจุบันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การซื้อก๊าซถูกลงตั้งแต่ปี 2565 ช่วยให้ราคาถูกลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า 550,000 ล้านบาท หรือประหยัดลงทันทีปีละ 55,000 ล้านบาท สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้หน่วยละ 29 สตางค์ ปัจจุบันราคาไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย จะสามารถลดราคาลงได้ 29 สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณร้อยละ 8 แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ต้องแบ่งไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเอ็นจีวีด้วย ส่วนลดจึงต้องเฉลี่ยออกไป ค่าไฟฟ้าจริงต่อหน่วยจึงลงได้เพียง 17 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น
นอกจากนี้ จากการที่ ปตท.สผ.เสนอส่วนแบ่งให้รัฐสูงกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้ในช่วง 10 ปีข้างหน้ารัฐจะได้รับส่วนแบ่งรูปแบบค่าภาคหลวง การแบ่งปันผลผลิตในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีกถึง 100,000 ล้านบาท โดยรวมแล้วประโยชน์ที่ภาครัฐและสังคมได้รับจะสูงถึง 650,000 ล้านบาท ทั้ั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562.
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่าบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการของแหล่งเอราวัณและบงกชในการประมูลครั้งนี้ ทั้งนี้ เชฟรอนได้ยื่นข้อเสนอที่มีแผนการดำเนินงานและการลงทุนอย่างเหมาะสมในทางปฏิบัติ สามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้มากที่สุด ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ เคารพการตัดสินใจของภาครัฐ และจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับราชอาณาจักรไทยต่อไป
“ผมเชื่อมั่นว่าบุคลากรชาวไทยที่เปี่ยมด้วยความสามารถของเชฟรอน มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของราชอาณาจักรไทยมามากกว่าครึ่งศตวรรษ นับเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจยิ่ง”