นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุมคณะทำงานการประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Mobility (คมนาคมอัจฉริยะ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของSmart City โดยแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวในครั้งนี้ได้หารือถึงหัวข้อด้านของSmart Mobility (เทคโนโลยีการคมนาคมอัจฉริยะ) เพื่อเป็นการกำหนดเกณฑ์พิจารณา และประเมินว่าผ่านเกณฑ์ที่จะได้เป็น Smart Mobility หรือไม่ ซึ่งเกณฑ์แต่ละด้านต้องมีคะแนนร้อยละ70 ขึ้นไปจึงจะผ่านการคัดเลือก ในส่วนของ Smart Mobility ก็จะแบ่งย่อยเป็น 5 หัวข้อ ประกอบด้วย
1. การเข้าถึงระบบใช้บริการด้านการเดินทางสาธารณะได้ง่าย รวมถึงการเดินทางจะต้องเข้าถึงกิจกรรมเมืองได้ง่าย 2.ความสะดวกการออกแบบให้การต่อเชื่อมในพื้นที่ 3. ความปลอดภัย 4.การส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 5. บริหารจัดการการเดินทางในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ โดยแต่ละกลุ่มหัวข้อคะแนนเต็ม 20 คะแนน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอพิเศษอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จะนำรายละเอียดทั้ง 5 เกณฑ์ ที่ประชุมในครั้งเสนอต่อที่ประชุมในวันที่20 ธันวาคม 2561 ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม สำหรับ 7 เมืองอัจฉริยะนำร่องประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร / เชียงใหม่ / ภูเก็ต / ขอนแก่น /ชลบุรี / ระยอง และฉะเชิงเทรา
“กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Mobility โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อกำหนดเกณฑ์การประเมินและตัวชี้วัดแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Mobility เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการได้มีมติเห็นชอบแนวทางการเป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำหนดให้ Smart Environment เป็นเงื่อนไขบังคับสำหรับกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และได้มอบให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ แต่งตั้งคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 Smart ได้แก่ Smart Economy, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Environment, Smart Living, Smart People และ Smart Governance”นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับแนวคิดของ Smart Cityนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาเมืองให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งได้มีการกำหนดคุณสมบัติสำคัญไว้ 4 ข้อ ดังนี้
1.มีการใช้ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ถนน อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก ในพื้นที่เมืองอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการพลังงานทั้งภาคการผลิต การส่งจ่ายและการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสนับสนุนสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในเมืองนั้นให้เข้มแข็ง 2.มีความยืดหยุ่นสูง ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ง่ายต่อการใช้งาน ง่ายต่อการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเมืองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3. เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เปิดกว้างและสามารถเข้าถึงแก่ผู้ใช้ในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ ทั้งยังสามารถแก้ไขให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกันได้ด้วย และ 4.เป็นเมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ปลอดภัย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ บ่มเพาะนักธุรกิจ นักพัฒนา เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา