ขนส่งทางบกกลางฯอนุมัติรถ ขสมก. ,ร่วม ขสมก. ปรับขึ้นราคา 1 บาท ขณะที่ รถ บขส. และรถร่วม บขส.ให้ปรับ 10 % มีผล 21 ม.ค.นี้ แต่เปิดทางก่อนถึงวันดังกล่าว หากรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็พร้อมทบทวนมติดังกล่าว
นายพีระพล ถาวรสุขเจริญ อธิบดีกรมขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่มีนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เปิดเผยผลการประชุมเมื่อวันที่ 14ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการพิจารณาภาระของผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่หมวด 1 - 4 ที่ให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานครกับต่างจังหวัด ผู้ประกอบการทั้งหมดต่างมีภาระต้นทุนสูงขึ้น เริ่มจากรถที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครในส่วนของผู้ประกอบการรถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขสมก. ซึ่งที่ผ่านมามีภาระจากการลอยตัวค่าก๊าซ เอ็นจีวี ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะมีการช่วยชดเชยค่าก๊าซให้ แต่ก็ไม่ครอบคลุมต้นทุน
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องเดินรถในช่วงการจราจรติดขัด ต้องประสบปัญหาขาดทุน มีการหยุดวิ่งให้บริการไปแล้วประมาณ 565 คันจากรถที่มีอยู่ 3,712 คัน ในส่วนของเอกชน จะเห็นได้ว่าการที่ไม่ปรับอัตราค่าโดยสาร ทำให้รถออกนอกระบบไปแล้ว18% และขณะเดียวกันที่มีการหยุดวิ่งและไม่ได้แจ้งไว้ มีอีกประมาณ1,000คัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องรอใช้บริการเป็นเวลานาน
ดังนั้น คณะกรรมการเห็นถึงความจำเป็นต้องอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารสำหรับรถร้อน ทั้งขสมก. และรถร่วมบริการ 1 บาท ส่วนรถปรับอากาศก็ให้ปรับขึ้นระยะละ 1 บาทด้วย ส่วนกรณีรถที่มีการจัดซื้อมาของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแผนการปฏิรูป มีการซื้อรถที่อายุไม่ถึง 2 ปี มีการติดตั้งระบบ E-Ticket และ GPS รถดังกล่าวให้ปรับราคา โดยในส่วนของรถร้อน ค่าโดยสาร 12 บาท ส่วนรถปรับอากาศ 4 กิโลเมตรแรก คิดอัตราค่าโดยสาร 15 บาท ระยะหลังจากนั้นให้จัดเก็บ 25 ตลอดสาย
นอกจากนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาให้ปรับราคารถ บขส. และรถร่วมบริการ บขส. ซึ่งที่ผ่านมา มีภาระจากการใช้เชื้อเพลิง น้ำมันดีเซล ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อมีการจ้างให้ TDRI ศึกษาก็ได้มีการนำเสนอข้อมูลว่า รถหมวดดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับค่าโดยสารขึ้นอีก 30 % อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป คณะกรรมการได้อนุมัติให้รถในหมวดดังกล่าวปรับราคาขึ้น 10 % โดยให้มีผล 21 มกราคม 2562 เช่นเดียวกัน
นายพีระพล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมจะนำมติการปรับขึ้นราคาดังกล่าว พร้อมมาตรการเยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการ อาทิ การเพิ่มวงเงินค่าเดินทางในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการใช้บัตรให้ครอบคลุมทั้งรถเมล์ ขสมก., รถเมล์ร่วมบริการ, รถ บขส. และรถไฟ, การสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง และลดภาษีการนำเข้ารถโดยสาร เป็นต้น เสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ หากกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลเห็นด้วยกับมาตรการเยียวยา หรือมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ เพิ่มเติม ที่ประชุมก็จะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่อีกครั้ง แต่หากไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ก็จะยึดมติที่ประชุมที่ให้ปรับราคาขึ้นในตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62 ทันที