กระทรวงเกษตรฯ ‘หนุนช๊อปยางเพื่อชาติ’ ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราของไทย โดยเร่งผนุก อปท.ทั่วประเทศรับซื้อน้ำยางไปทำถนน หวังสร้างความต้องการให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ อบจ.หนองบัวลำภู ขานรับ รับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรทำถนนนำร่องเป็นที่แรก
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีนโยบายเน้นย้ำให้ภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำไปใช้ในกิจกรรมหรือสาธารณะประโยชน์ต่างๆ นั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และการยางแห่งประเทศไทยที่ประจำในแต่ละจังหวัด ว่า จะมีการเชิญประชุมนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดแผนการใช้ยางพาราทำถนนในเขตพื้นที่ของจังหวัด และในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบกับกำหนดแผนการใช้ยางพาราสำหรับทำถนนนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่
1. พาราแอสฟัลติก ( Para Asphaltic ) และ 2. พาราซอยซีเมนต์ ( Parasol Cemen ) โดยส่วนใหญ่จะเน้นทำพาราซอยซีเมนต์ เพราะเป็นถนนในหมู่บ้าน ส่วนพาราแอสฟัลติก คือถนนใหญ่ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขอแบบแปลนกลาง (แบบประเมินราคากลาง) คาดว่าแบบรับรองโครงสร้างถนนพาราแอสฟัลติกจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือสั่งการไปยัง อปท. ให้นายก อปท.สามารถใช้งบประมาณสะสมขององค์กรมาทำถนนได้
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งศูนย์อำนวยการติดตามโครงการทำถนนและยางพารา ควบคู่กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการทำงานสนับสนุนและช่วยเหลือกัน และยืนยันว่า โครงการนี้สามารถดูดซับปริมาณยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากให้หมดลงไปได้ อีกทั้งได้รับการรายงานว่า จ.เชียงใหม่ มีน้ำยางพาราจำนวน 3,000 ตัน อปท. จำนวน 65 องค์กร ได้รับรายงานจากผู้ว่าฯ ว่า น้ำยางที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่พอต่อความต้องการ จึงได้แนะแนวทางในการนำน้ำยางจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง มาใช้ได้ ส่วนการซื้อน้ำยางสด ขอให้ซื้อจากสถาบันเกษตรกร, กลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตรและรัฐวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) เป็นผู้รับรอง และในการซื้อน้ำยางนั้น ใช้ราคากลางซึ่ง กยท. ประกาศทุกวัน เป็นราคารับซื้อ
ทั้งนี้ ภายหลังการเร่งรัดประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง อปท.สนับสนุนโครงการทำถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราในตำบล หมู่บ้าน ในพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดนั้น ขณะนี้ ได้รับรายงานจากเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภูว่า ได้ประสานงานกับองค์การบริหารงานส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ทางอบจ.อนุมัติงบประมาณสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราเป็นแห่งแรกเป็นถนนสาธิต โดย อบจ.หนองบัวลำภูซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มเกษตรกรห้วยเดื่อ 1,200 กิโลกรัม และจากสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนทันยางทอง จำกัด 1,200 กิโลกรัม มาทำถนนยางพาราที่หมู่ 4 บ้านหินลับ ตำบลหนองสวรรค์ อ. เมืองหนองบัวลำภูแล้ว
“หาก อปท.ทุกแห่งได้สนับสนุนให้มีการทำถนนภายในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านหรือชุมชนทั่วประเทศทั้ง 80,000 หมู่บ้าน/ชุมชน ด้วยถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา หมู่บ้านละอย่างน้อย 1 กิโลเมตรก็จะต้องใช้น้ำยางพาราไม่น้อยกว่า 960,000 ตัน (1ก.ม.ใช้น้ำยางพาราจำนวน 12 ตัน) จะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นตามเป้าหมายอีกทั้งเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” รมว.เกษตรฯ กล่าว
ด้านนายแพทย์ศราวุธ สันตินันตะรักษ์ นายกอบจ. หนองบัวลำภู กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการก่อสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราแก่ผู้บริหารอบต. เทศบาล และพนักงานด้านช่างถึงการนำน้ำยางพาราสดและน้ำยางพาราข้นมาทำถนนตามมาตรฐานงานดินซีเมนต์ของกรมทางหลวงชนบทตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันราคายางพาราที่ตกต่ำให้มีราคาสูงขึ้น ซึ่งได้ทำถนนสาธิตไว้ที่สาย นภ. ถ. 10009 สายบ้านเก๋าโกใต้-บ้านโนนงาม ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภูสำหรับถนนสายแรกนี้ยาว 200 เมตร ผิวการจราจรกว้าง 6 เมตร คิดเป็น 1,200 ตารางเมตร ใช้ซีเมนต์ 240 ถุงผสมดินลูกรัง คลุกเคล้าให้เข้ากัน ต่อมาใช้น้ำยางพาราสดพ่นให้ทั่วผิวถนน แล้วใช้เครื่องจักรกลเกลี่ยและคลุกเคล้าถึง 4 รอบ แล้วจึงบดอัดให้แน่น
“อย่างไรก็ตาม ยังมี อบต. 43 แห่งและเทศบาล 24 แห่งแสดงความจำนงที่จะร่วมโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางในจังหวัด ทั้งนี้ถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราความยาว 1 กิโลเมตร ผิวการจราจรกว้าง 6 เมตร คิดเป็น 6,000 ตารางเมตร ใช้น้ำยางสด 12,000 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 26.67 บาท คิดเป็นค่าน้ำยางสด 320,040 บาท ทั้งนี้เมื่อรวมค่าวัสดุอื่นๆ จะใช้งบประมาณ 1,130,040 บาทในการสร้างถนนงานดินซีเมนต์ยางพาราความยาว 1 กิโลเมตร โดยทางจังหวัดหนองบัวลำภูจะรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล” นายกอบจ. หนองบัวลำภู กล่าว