นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) คาดว่า ในปี 2562 ผู้โดยสารจะเติบโตที่อัตรา 4-7% จากปีนี้ท่าอากาศยานของ ทย.ทั้งหมดมีผู้โดยสารรวมที่ 19 ล้านคน ซึ่งเพิ่มจากปี 2560 ประมาณ 4% แม้ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต โดยได้ส่งผลกระทบต่อสนามบินกระบี่ ในปี 2561 ที่จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงไป 30% แต่ทั้งนี้ในภาพรวมทั้งปี 2561 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 จำนวนผู้โดยสาร สนามบินกระบี่ยังคงเติบโตจาก 4 ล้านคนเป็น 4.3 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยว 21 ประเทศ (Visa On Arrival) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561-31 ม.ค. 2562 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนได้แน่นอน โดยขณะนี้มีสายการบินของจีนหลายสายเตรียมทำการบินเข้ามายังไทย เช่น คุนหมิงแอร์ไลน์ สนใจทำการบินจากจีนตอนใต้มายัง นครราชสีมา และ ลัคกี้แอร์ ซึ่งเคยบินมายังกระบี่ แต่ได้หยุดไปช่วงหนึ่ง ก็เตรียมเปิดทำการบินอีกครั้ง รวมถึง ไทยแอร์เอเชียที่อยู่ระหว่างพิจารณาเปิดเส้นทางหัวหิน-เชียงใหม่
ที่ผ่านมา ทย.ได้ออกมาตรการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการลดค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Fee) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) แบบขั้นบันไดเป็นเวลา 3 ปี ลดค่าเช่าพื้นที่ 50% และ ลดค่าธรรมเนียมผู้โดยสารระหว่างประเทศ (PSC) 50% เพื่อจูงใจสายการบิน
นางอัมพวัน กล่าวถึงแผนการพัฒนากรมท่าอากาศยานในปี’ 62 ว่า จะมีการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารเร่งด่วน ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น และปรับปรุงมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO ผ่านโครงการระบบตรวจค้นสัมภาระอัตโนมัติหลังเคาน์เตอร์เช็คอิน EDS in line ซึ่งเริ่มติดตั้งปี 2560 จะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2562 ซึ่งจะลงทุนอีกประมาณ 941 ล้านบาท และโครงการจัดหารถดับเพลิงเพื่อทดแทนรถรุ่นเดิม วงเงินประมาณ 108 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยาน มีแผนพัฒนากรมท่าอากาศยานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน มีเป้าหมายให้ท่าอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตผ่านอุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ เน้นให้มีต้นทุนการขนส่งต่ำ โดยยุทธศาสตร์ 5 ปี จะเน้นการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินได้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้กรณีมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสตูล และจัดให้มีท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานแม่สอด กระบี่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และตรัง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถลานจอดเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานลำปาง และท่าอากาศยานบุรีรัมย์