สหภาพ กทพ.แต่งดำคัดค้านมติบอร์ด กทพ.ต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ชี้ต้องแยกข้อพิพาทที่ยังไม่สิ้นสุดออกมา ยันบอร์ดเจรจาเหมารวมไม่ได้ ขณะที่ทำทางด่วน 2 ชั้นโครงสร้างเดิมอาจมีปัญหา จี้ “ประธานบอร์ด-ผู้ว่าฯ กทพ.” เปิดเผยผลศึกษา มั่นใจ กทพ.จ่ายค่าชดเชยทางแข่งขันได้
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) และพนักงาน ลูกจ้าง การทางพิเศษฯ ได้รวมตัวกันแต่งชุดดำ และร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านมติคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ในเรื่องที่จะขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 พร้อมกับขอให้บอร์ด กทพ.ดำเนินการ 5 ข้อ ได้แก่ 1. ทบทวนมติคณะกรรมการ กทพ.ใหม่ทั้งหมดที่เกี่ยวกับเรื่องขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 โดยให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และไม่นำข้อพิพาทที่ยังไม่ได้พิพากษามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด
2. ขอทราบผลการศึกษา เพื่อความน่าเชื่อถือของที่ปรึกษา 3. ขอให้ทำความเข้าใจกับพนักงาน โดยไม่ใช่เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ก่อนนำเรื่องเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 4. ขอให้ กทพ.ชำระเงินตามคำพิพากษาของศาล (ทางแข่งขัน) ให้กับ NECL โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ กทพ. และไม่ให้นำมาเป็นเหตุหรือข้ออ้างในการขยายสัญญาสัมปทาน 5. ในการเพิ่มประสิทธิภาพของทางด่วนขั้นที่ 2 โดยทำทางด่วนขั้นที่ 2 ควรศึกษาถึงผลกระทบ ผลดี-ผลเสียให้รอบคอบก่อน หรือหาทางออกโดยการปรับปรุงระบบที่มีอยู่เดิมเพื่อลดต้นทุน เพราะการสร้างทางด่วน 2 ชั้น บนทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) โครงสร้างเดิมอาจไม่รองรับ
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ด กทพ.กล่าวว่า การขยายสัมปทานให้เอกชนเป็น 1 ใน 3 แนวทางที่มีการศึกษาไว้หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด คือ 1. กทพ.ดำเนินการเองซึ่งจะต้องจัดหางบประมาณชำระตามคำสั่งศาล อาจจะกระทบต่อสถานะการเงิน เป็นแนวทางที่มีข้อจำกัดมาก 2. เจรจากับเอกชน 3. เปิดประมูลหาผู้ประกอบการใหม่ โดยจะต้องรับภาระหนี้ที่ กทพ.ต้องจ่ายไปด้วย
ทั้งนี้ บอร์ดทำหน้าที่เจรจา ส่วนจะเอาหรือไม่อยู่ที่รัฐบาลเป็นคนตัดสิน ซึ่งอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ หากไม่เห็นด้วยก็อาจจะเลือกแนวทางอื่นก็ได้ ส่วนที่พนักงานเป็นกังวลและอยากให้บอร์ดชี้แจง เราก็พร้อมเพราะสิ่งที่บอร์ดตัดสินอยู่บนพื้นฐานที่รัฐไม่เสียอะไร กทพ.ได้ประโยชน์ เอกชนอยู่ได้และประโยชน์ที่ได้รับตกอยู่ที่ประชาชน โดยบอร์ดมีมติแนวทางการขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้น 2 ออกไปอีก 37 ปี ซึ่งจะสรุปแนวทางนำเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอตามขั้นตอนไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP เห็นชอบและเสนอครม.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(สร.กทพ.) เปิดเผยว่า สหภาพแรงงานฯ ได้เดินทางเข้าพบ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่ากทพ. เพื่อสอบถามแนวทางการเจรจาขยายสัมปทานทางพิเศษ (ทางด่วน) ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อล้างหนี้กับเงินชดใช้ค่าเสียหาย วงเงิน 1.37 แสนล้านบาท ที่ กทพ. ต้องจ่ายให้กับ บีอีเอ็มตามคำสั่งศาลจากกรณีข้อพิพาท
โดย ผู้ว่า กทพ.ชี้แจงว่า กทพ. ได้ยื่นข้อเสนอจะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 2 เส้นทางให้กับ BEM เป็นเวลา 37 ปี พร้อมจะแบ่งรายได้บางส่วนให้กับ BEM เพิ่มเติม เพื่อล้างหนี้ โดยมีข้อเสนอจะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน–ปากเกร็ด ระยะทาง 32 กิโลเมตร, ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัช โครงข่ายนอกเมือง (ทางด่วนขั้นที่ 2) ช่วง C รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ และช่วง D พระราม 9-ศรีนครินทร์ ระยะทางรวม 16.6 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังจะมีการแบ่งรายได้บางส่วนของทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) สายดินแดง-ท่าเรือ สายบางนา-ท่าเรือ และสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตรให้กับ BEM ด้วย
“การขยายสัมปทานควรอยู่บนพื้นฐาน ตัวเลขหนี้ค่าเสียหายที่ต้องชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คดีที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หรือคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง โดยปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ จ่ายค่าชดเชยแก่ BEM เพียงคดีเดียว คิดเป็นมูลค่าหนี้เพียง 4.2 พันล้านบาท แต่คดีอื่นๆ ยังไม่มีการตัดสิน