กรมอุทยานฯ ร่วมกับ WWF วิจัยการติดปลอกคอช้างป่า แก้ปัญหาคนกับช้างป่า นำร่องพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การติดปลอกคอช้างป่า ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของทางออกคนและสัตว์ป่า ในพื้นแห่งความขัดแย้ง ขณะที่สัตว์ป่าถูกรุกพื้นที่เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและเพาะปลูก ด้านชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของพืชผลที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายและเป็นการสูญเสียรายได้ ซึ่งในบางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยปลอกคอชุดแรก 3 เส้นนำเข้าจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ จากความร่วมมือขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลและเครือข่ายนักวิจัยในสถาบันวิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์จากทั่วโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนี่ยน สหรัฐอเมริกา
“ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ครอบคลุม 5 จังหวัด กว่า 1,000 กิโลเมตร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทีมนักวิจัย และหน่วยลาดตระเวนลงพื้นที่ติดตามศึกษาพฤติกรรมช้างป่า รวมทั้งศึกษาเส้นทางการเดินของฝูงช้าง เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาช้างเข้าทำลายและกินผลไม้ พืชสวนของเกษตรกร ซึ่งจะได้เห็นปัญหาในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นช้างป่าทำร้ายคนถึงขั้นเสียชีวิต และคนฆ่าช้าง ดังนั้นการติดปลอกคอช้างจึงเป็นวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้ และได้ผลดี โดยจะต้องมีการออกแบบแผนงานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และพฤติกรรมของช้างในประเทศนั้นๆทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจะถูกนำมาใช้วางแผนร่วมกับกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง”
ทางด้านนางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า WWF ให้การสนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติฯอย่างเต็มที่ ในการถอดรหัสปัญหา พร้อมร่วมนำเสนอแนวทางแก้ไข ด้วยการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ “WWF กับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีต้นแบบของกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเรื่องของช้างป่า ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย โดยเรามองเห็นว่า ทั้งนี้ WWF และ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกันดำเนินงานวิจัยที่จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนและช้างที่เกิดขึ้นรวมถึงวางแผนลงพื้นที่ทำงานติดตั้งปลอกคอช้างเชื่อมต่อกับการส่งสัญญาณดาวเทียม เพื่อการวางแผนรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัย และเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ลงพื้นที่ติดปลอกคอช้างที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2561 โดยทีมเจ้าหน้าที่ได้ทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินของช้างป่าก่อนหน้าจะลงมือปฏิบัติการ และวางตัวเป้าหมายอย่างชัดเจน
ด้านดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึง อุปกรณ์ที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ โดยระบุว่า อุปกรณ์ที่ใช้ติดตามสัตว์นั้น จะมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า ชุดปลอกคอสัญญาณวิทยุ และล่าสุด ได้มีการนำชุดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเข้ามาใช้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด มาติดเข้ากับช้างป่าได้อย่างเป็นผลสำเร็จ
“ชุดปลอกคอดาวเทียม มักจะนำมาใช้กับสัตว์ที่เคลื่อนที่ และหาตัวได้ยาก สัญญาณจะถูกส่งไปยังระบบดาวเทียม โดยมีทั้งระบบจีเอสเอ็ม และ อิเรเดียม เข้ามารองรับ โดยอุปกรณ์นี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะมีความแม่นยำสูง การทำงานของมันคือการส่งสัญญาณมายังภาคพื้น และผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านระบบอินเทอร์เนต คือ อ่านค่าตำแหน่งของปลอกคอช้างได้ และรู้พิกัดของช้างที่ค่อนข้างแม่นยำ”
สำหรับองค์ประกอบของอุปกรณ์ชุดปลอกคอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์สำหรับส่งสัญญาณ แบตเตอรี่ และเครื่องส่งสัญญาณที่มีอายุการใช้งาน 5-10 ปี รวมทั้งสายรัด ที่ทำจากโพลีเมอร์ ผสมยางพารา มีความคงทน และยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเมื่ออายุการใช้งานประมาณ 5-6 ปี
“เบื้องต้นเราจะเฝ้าสังเกต และเฝ้าระวังในกรณีช้างออกจากป่า ข้อมูลพิกัดของช้างที่ส่งมาแบบทันท่วงที จะทำให้เจ้าหน้าที่เข้าสู่ตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ช่วยชาวบ่านผลักดันช้างสู่ป่า ชุมชนก็จะป้องกันตนเองได้ดีขึ้น ช้างก็จะปลอดภัยมากขึ้น”
โครงการติดปลอกคอช้างป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ถือเป็นการทำงานครั้งแรกที่จะนำไปสู่การขยายผลต่อไป ทั้งนี้ WWF ประเทศไทย วางแผนส่งมอบชุดปลอกคอช้างเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งสิ้น 6 ชุด และจะร่วมลงพื้นที่ติดตาม ทำงานวิจัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อไป