สจล.ดึง WMApp ติดตามแนวโน้มเกิดฝน-ลมแรง พื้นที่ฝุ่นละออง PM 2.5
เสนอ 3 มาตรการเร่งด่วนรับมือปัญหาฝุ่นละลองขนาดเล็ก PM 2.5 ปกคลุมหลายจังหวัดของไทย
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอ 3 มาตรการเร่งด่วนรับมือปัญหาฝุ่นละลองขนาดเล็ก PM 2.5 ปกคลุมหลายจังหวัดของไทย แนะเจ้าหน้าที่รัฐเอาจริงลงพื้นที่คุมเข้มบังคับใช้กฎหมาย สกัดจับรถควันดำบนท้องถนน จับตาเขตพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานไร้การป้องกัน กวดขันทุกความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมลพิษ พร้อมเตือนประชาชนหยุดกิจกรรมในโล่งแจ้งเป็นเวลานาน หมั่นเปลี่ยนหน้ากากอนามัย N95 ไม่ใช้ซ้ำ ดึง WMApp ติดตามแนวโน้มเกิดฝน-ลมแรงพื้นที่วิกฤต 16 – 17 มกราคมนี้ หวังช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้
ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงในขณะนี้ มีสาเหตุจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งถูกปล่อยจากเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง เช่น ควันจากท่อไอเสียรถ การจราจรขนส่ง รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง เป็นต้น โดยปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จนกระทั่งลุกลามถึงขั้นวิกฤติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน เพื่อคืนอากาศสะอาดคืนสู่สิ่งแวดล้อมโดยเร็วที่สุด
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีดังนี้
1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ดูแลโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณโดยรอบน้อยที่สุด เช่น มีตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละออง 2.เสนอให้กรุงเทพมหานครจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการทำงานตามพื้นที่ก่อสร้างต่างๆ ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศให้ตามที่กฎหมายกำหนด และดำเนินการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด 3. เพิ่มมาตรการคัดกรองรถที่วิ่งบนท้องถนน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันกับรถปล่อยมลพิษควันดำระหว่างการขับขี่
ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละออง สามารถป้องกันตนเองได้จากการสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ ควรหมั่นเปลี่ยนชิ้นใหม่ทุกวัน โดยไม่ควรใช้ซ้ำติดกันนาน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในโรงเรียนต่างๆ ควรประกาศให้ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ส่วนแนวคิดที่รอให้ฝนตกช่วยชะล้างปริมาณฝุ่นละอองชนิดนี้ อาจไม่ใช่ทางเลือกทีดีที่สุด เพราะฝนสามารถกำจัดได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจาก PM 2.5 มีอนุภาคเล็กกว่าชนิด PM 10 ที่เกิดจากการเผาป่า หรือปฏิกูลเหลือทิ้งจากการเกษตร จึงต้องอาศัยการแก้ที่ต้นเหตุควบคู่กันจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดร. สุชัชวีร์ กล่าว
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม WMApp เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์ผ่านแอปพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป “WMApp” ที่ทำการวัด ความเร็วและทิศทางลม และความสูงของคลื่น ผ่านมาตราลมโบฟอร์ต (Beaufort Scale) พบว่าในช่วงนี้ อากาศสงบ ความเร็วลมน้อยกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สภาพอากาศปิด ส่งผลให้ควันไม่ลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศ เมื่อฝุ่นที่เล็กมากจนมองไม่เห็นรวมตัวกันจึงคล้ายกลุ่มหมอกสีน้ำตาล จนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
สำหรับฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงช่วงเช้าวันนี้ (15 มกราคม 2562) เป็นฝนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณเล็กน้อย ยังไม่เกิดจากการทำฝนเทียม เนื่องจากการสร้างฝนเทียมในสภาวะอากาศเช่นนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือการสร้างเมฆให้เกิดฝนนั้น ต้องเริ่มจากการสภาวะของบรรยากาศที่มีความเหมาะสมในการเกิดเมฆอยู่ก่อนจึงจะสามารถสร้างฝนเทียมได้ ส่วนในช่วงประมาณวันที่ 16 – 17 มกราคมนี้ จะมีลมที่มาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ลดลงได้ ทั้งนี้แนะประชาชนป้องกันตนเองได้จากฝุ่นละอองเพื่อรอสถานการณ์คลี่คลาย