สืบเนื่องจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนการค้าเชิงรุกในปี 2562 ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) แล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังได้ตั้งเป้าขยายผู้ประกอบการเป้าหมายสู่กลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อผลักดันผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคให้สามารถทำการค้าในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น อาทิเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรกรรุ่นใหม่
โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านองค์ความรู้ พร้อมสร้างเครือข่ายและเตรียมช่องทางตลาดในต่างประเทศ เพื่อโอกาสส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ตามนโยบาย Local to Global ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการขยายตลาดในต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว พร้อมลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำในการผลิต การพัฒนาสินค้าในเชิงรุกมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้มุ่งเพิ่มองค์ความรู้ด้านการส่งออก การทำตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคทำการส่งออกได้ผ่าน “โครงการต้นกล้าทูโกล” ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรที่มีศักยภาพสามารถส่งออกไปตลาดโลกได้ อีกทั้งจะได้รับการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายเพื่อการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการสร้างแบรนด์ต้นแบบ Thai Brand Heroes เพิ่มมากขึ้น โดยทางกรมฯ ได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าในรูปแบบ Success Story ของทั้ง 10 แบรนด์ต้นแบบในรุ่นที่ 1 เพื่อแสดงถึงผลการดำเนินโครงการของผู้ประกอบการและเผยแพร่เป็นกรณีศึกษา เพื่อผลักดันสินค้าแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพนำออกขายในตลาดต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักและยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย พร้อมยกระดับภาพลักษณ์สินค้าจากประเทศไทยในเวทีการค้าโลกอีกด้วย
ด้าน นางปริยากร ธรรมพุทธสิริ ผู้ผลิตและจำหน่าย ผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา หนึ่งในผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลา ที่เคยเข้าร่วมโครงการต้นกล้าทูโกล กล่าวว่า ในจังหวัดสงขลามีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่ออยู่อย่างหนึ่งนั้นคือผ้าขาวม้าเกาะยอ ทางตนจึงได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับผ้าขาวม้า เพื่อฟื้นฟูผ้าท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งตลอด 2 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา ได้ลงมือทำเองเกือบทั้งหมด ทั้งเป็นผู้ผลิตผ้าและแปรรูปเป็นเสื้อผ้าลายผ้าขาวม้า เพราะเป็นผู้ประกอบการรายเดียว ซึ่งตอนแรกเพียงต้องการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในพื้นที่ จึงได้มีการจ้างให้ช่วยทอผ้าฝ้าย ก่อนจะนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าลายผ้าขาวม้าหรือกระเป๋าขาย โดยตอนนั้นมีคนช่วยอยู่แค่ 5 คนเท่านั้น
ต่อมาได้เข้าร่วมกับศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้เสนอโครงการเกี่ยวกับการนำใยสับปะรดมาแปรรูปเป็นสินค้าเสื้อผ้า กระเป๋า หรือรองเท้าที่มีมูลค่าสูงได้ ประกอบกับทางตนและคนในพื้นที่มีทักษะด้านการทอผ้าอยู่แล้วจึงเกิดความสนใจที่จะพัฒนาสินค้าจากเส้นใยสับปะรด ด้านมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้ของบประมาณให้กับตน จึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมที่เป็นผ้าขาวม้าที่ใช้เนื้อผ้าฝ้ายธรรมดาๆ เปลี่ยนเป็นใช้ใยสับปะรดที่ทำมาจากกอสับปะรดที่ไม่มีค่าอะไรมากมาย มาพัฒนาเป็นสินค้าคุณภาพ รวมถึงปรับกระบวนการผลิตจากที่เคยสีสังเคราะห์ในการย้อมผ้าก็เปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติแทน รวมถึงกระบวนการผลิตเส้นใยจากสับปะรดเป็นงานทำมือเกือบทั้งหมด ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมหาศาล จากเดิมที่เคยขายผ้าขาวม้าวัตถุดิบธรรมดาทั่วไปขายในราคาประมาณ 200-300 บาท แต่เมื่อได้มีการเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบเป็นเส้นใยสับปะรดบวกกับการดีไซน์สินค้าให้มีความทันสมัยและสวยงามขึ้น ทำให้สามารถขายได้ในราคาหลักพันหรือสูงถึง 3,000-5,000 บาทเลยทีเดียว
จากความสำเร็จในการพัฒนาสินค้า ทำให้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเกิดความสนใจและชักชวนให้เข้าร่วมโครงการต้นกล้าทูโกลของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ โดยโครงการดังกล่าว ได้มุ่งเสริมด้านองค์ความรู้ ทั้งการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น อีกทั้งยังมีนักวิชาการมาให้คำปรึกษาสอนเรื่องของการส่งออกเรื่องของการตั้งราคาให้เหมาะสม
หลังจากเสริมศักยภาพของผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นอย่างเต็มที่แล้ว จึงได้มีโอกาสไปแสดงสินค้าในงาน STYLE Bangkok ของทางกรมฯ ซึ่งจากผลิตภัณฑ์ที่ได้เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบไม่มีราคาอย่างกอสับปะรดให้มีมูลค่าผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สวยงามมีคุณภาพ ทำให้ได้ผลตอบรับจากในงานดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและ สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ที่ให้ความสนใจสินค้าที่ทำมาจากธรรมชาติ ยิ่งได้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋าหรือรองเท้าที่ผลิตมาจากเส้นใยสับปะรดทั้งหมด และยังมีดีไซน์รูปแบบที่ทันสมัยสวยงาม ก็ยิ่งได้รับสนใจขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความสนใจและต้องการสั่งออเดอร์สินค้าไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก
“แม้จะมีการพัฒนาสินค้าในการใช้วัตถุดิบดีๆ อย่างผ้าใยสับปะรด แต่เมื่อก่อนยังคงทำเองเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะการผลิตผ้าการแปรรูป รวมถึงการค้าขาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เกือบทั้งหมด แต่เมื่อได้เข้าร่วมอบรมกับ DITP นอกจากจะทำให้สินค้าของเราได้เป็นที่รู้จักและออกไปขายในตลาดต่างประเทศแล้ว สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้เราได้รู้จักคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน เช่น นายวินิจ สินธุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปราณพรหม จำกัด ได้เข้ามาช่วยด้านการตลาด ขณะที่เราทำด้านการผลิตและแปรรูปทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้น และเกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่ช่วยเหลือกัน ซึ่งสามารถต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น” นางปริยากร กล่าว
โดยตอนนี้ได้พยายามรวบรวมใยสับปะรดจำนวนมาก ทั้งรับซื้อกอสับปะรดมาผลิตเอง และรับซื้อใยสับปะรดจากคนในชุมชน เพื่อเก็บสต๊อกไว้สำหรับผลิตสินค้า คาดว่าจะเริ่มผลิตและส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป อีกทั้งยังได้มีแนวทางในการส่งเสริมการปลูกสับปะรด เพื่อนำกอสับปะรดมาทำใยสับปะรด รวมถึงจัดตั้งศูนย์อบรมเพื่อฝึกทักษะคนในพื้นสำหรับทำใยสับปะรด นอกจากนี้ ยังได้รับซื้อกอสับปะรดจากคนในพื้นที่ และหากมีเกษตรกรคนไหนขายใยสับปะรดให้ ตนก็จะรับซื้อในราคาที่สูงยิ่งขึ้น
ด้านนายวินิจ สินธุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปราณพรหม จำกัด หนึ่งในเครือข่ายที่ดูแลด้านการตลาดให้กับนางปริยากร เปิดเผยว่า ผลของการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการนำใบสับปะรดมาผ่านกระบวนการ เพื่อให้ได้เส้นใยสับปะรดนั้น นอกจากจะทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้นแล้ว ยังได้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนอีกด้วย เนื่องจากได้นำเอาวัตถุดิบที่ไม่มีมูลค่าเป็นของเหลือทิ้งมาสร้างสรรค์ผลงานกลายเป็นสินค้าที่ทรงคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งยังได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกมากมาย เพราะได้มีการรับซื้อใยสับปะรดจากฝีมือคนในพื้นที่ โดยถ้านำกอสับปะรดมาขายจะได้กิโลกรัมละ 2 บาทเท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นใยสับปะรดเราจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 300 ถึง 600 บาท ขณะที่กลุ่มทอผ้าที่เคยทอผ้าได้เมตรละ 50 บาท หลังจากได้มีการพัฒนาสินค้าด้วยใยสับปะรด ทำให้ปัจจุบันค่าแรงในการทอผ้าหนึ่งเมตรสูงถึง 150 บาทหรือ 250 บาท นับเป็นการสร้างรายได้เสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง นายวินิจ กล่าว
ความสำเร็จของ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา ในการพัฒนาสินค้าจากเดิมๆ ให้กลายเป็นสินค้าที่มาจากวัตถุดิบไม่มีมูลค่าให้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงได้นั้น ถือเป็นต้นแบบสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการยุคใหม่เห็นว่า สินค้าท้องถิ่นที่เคยขายแค่ในพื้นที่ก็สามารถเพิ่มมูลค่า และทำการค้าในตลาดต่างประเทศได้ หากมีการยกระดับด้านผลิตภัณฑ์ ทั้งการดีไซน์และวัตถุดิบให้ตอบโจทย์ความต้องการของต่างชาติ และอีกหัวใจสำคัญที่ทำให้ หจก.รักษ์บ้านเราประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดนั้นคือ การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายในระดับชุมชนของDITP ซึ่งทำให้เกิดแลกเปลี่ยนความรู้รวมถึงส่งเสริมการค้าขายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ยังส่งผลให้การทำการค้าในตลาดต่างประเทศด้วยฝีมือของชุมชนไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169