โดยแนวทางการแก้ไขปัญหา ควรดำเนินการเปิดให้ธุรกิจก๊าซ LPG มีความเป็น “เสรี” มากขึ้น โดยให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LPG มากกว่า 1 ราย ซึ่งปัจจุบันมีเพียง ปตท. เจ้าเดียว โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้
ระยะที่ 1 ยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่น (ที่ไม่ใช่ ปตท.) นำเข้า เช่น มาตรการเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าที่ล่าช้า และให้ ปตท. เปิดให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน LPG (ท่าเรือนำเข้า คลัง) แก่ผู้นำเข้ารายอื่น โดย ปตท. ยังสามารถกำหนดให้มีค่าบริการและกฎระเบียบการใช้คลังที่เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งเสนอให้มีการยกเลิกการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังภูมิภาค
ระยะที่ 2 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า แต่ยังกำกับราคานำเข้าที่ไม่เกิน CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยแบ่งปริมาณนำเข้าของ ปตท. บางส่วน ให้ผู้ประกอบการรายอื่นด้วยระบบโควต้า และให้สามารถนำเข้าได้มากกว่าโควต้าที่ได้รับตามที่กรมธุรกิจพลังงานจะเห็นสมควรและกำหนด แต่หากไม่มีผู้ค้ามาตรา 7 ก๊าซรายใดยื่นความประสงค์ที่จะนำเข้าก๊าซ LPG แสดงว่าราคานำเข้าที่ CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นราคาที่ต่ำที่สุดสำหรับการนำเข้าก็จะต้องเป็นบทบาทของ ปตท. ที่จะต้องนำเข้าในราคาดังกล่าว
ระยะที่ 3 เปิดส่วนแบ่งปริมาณนำเข้า ด้วยราคานำเข้าที่ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยให้มีการทบทวนสูตรราคานำเข้าจาก CP+85 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการขนส่ง (ค่าเรือ) ซึ่งปรับตามตลาดโลก เพื่อจูงใจให้มีผู้นำเข้ารายอื่นสามารถนำเข้าได้
ระยะที่ 4 เปิดการประมูลการนำเข้าก๊าซ LPG โดยเมื่อปริมาณโควต้าของผู้ประกอบการทุกรายรวมกันมากกว่าปริมาณที่ต้องนำเข้าให้ใช้วิธีการประมูล (bidding) โดยให้ กรมธุรกิจพลังงานเปิดประมูลการนำเข้า โดยให้สิทธินำเข้าแก่ราคาต่ำสุดที่น้อยกว่า CP+85 หรือ CP+X เหรียญสหรัฐ/ตัน (ตามแต่กรณี) จนถึงปริมาณรวมที่ประเทศต้องนำเข้า เป็นต้น
· การดำเนินการตาม Roadmap จะเปิดให้มีผู้นำเข้าก๊าซ LPG มากกว่า 1 รายก่อนและรอติดตามผลการดำเนินงานภายใน 1 ปีก่อนเปิดเสรีเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้ค้าก๊าซทั้งจากกลุ่มโรงกลั่นและนำเข้าจะมีเวลาในการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบแข่งขันเสรี รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้บริโภคปรับตัวด้วย