กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการแก้ปัญหาการระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยสามารถรายงานผลได้ภายใน 48 ชั่วโมง แบบออนไลน์ผ่านฐานข้อมูลกำจัดโรคหัด กรมควบคุมโรค เพื่อนำผลไปใช้ในการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เปิดเผยว่าโรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Measles พบได้ในจมูกและลำคอผู้ป่วย ติดต่อง่ายโดยการไอหรือจาม เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย หากมีไข้ มีผื่นแดง ไอมีน้ำมูก เยื่อบุตาแดง มีจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที สถานการณ์การระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสงขลา ซึ่งจะพบมาก ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และกรณีที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 1 ปี มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค บางรายอายุยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ในฐานะห้องปฏิบัติการที่ผ่านการตรวจประเมินจากองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้สนับสนุนการแก้ปัญหาการระบาด ของโรคหัด โดยการตรวจยืนยันผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสหัด และสามารถรายงานผลได้ภายใน 48 ชั่วโมงแบบออนไลน์ ผ่านฐานข้อมูลกำจัดโรคหัด กรมควบคุมโรค เพื่อนำผลไปใช้ในการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค พบว่าตัวอย่างที่ส่งตรวจยืนยันโรคหัดมีมากถึง 1,942 ราย พบการติดเชื้อโรคหัด 1,271 ราย คิดเป็นร้อยละ 65 พบติดเชื้อหัดเยอรมัน (Rubella) อีกร้อยละ 0.6 โดยที่เหลือร้อยละ 34 ให้ผลลบ อาจมีสาเหตุจากช่วงระยะเวลาในการเก็บตัวอย่างไม่เหมาะสม หรือเป็นตัวอย่างจากกลุ่มของผู้สัมผัสซึ่งมีอาการแสดงไม่ชัดเจน หรือเป็นไข้ออกผื่นชนิดอื่น และจากผลตรวจหาสายพันธุ์ ของเชื้อไวรัสหัดที่ระบาดนี้ ด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล RT – PCR และการหาลำดับสารพันธุกรรมของไวรัส จากตัวอย่างเชื้อ ที่เก็บจากสวอบ (Swab) ในคอของผู้ป่วย พบว่าไวรัสหัดสายพันธุ์ B3 เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ ทางระบาดวิทยาการสอบสวนโรคและควบคุมโรคเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ สนับสนุนนโยบายตามโครงการกำจัดโรคหัด ตามพันธะสัญญานานาชาติ อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สองที่อายุ 2 ปีครึ่ง ดังนั้นประชาชนควรนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบถ้วนจะสามารถป้องกันโรคหัดได้