ภญ.ดร.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การฯได้รับรางวัล Honorable Mention Facility Of The Year Awards 2018 จากสมาคมISPE ที่มีสมาชิกกว่า 18,000 ราย ใน 90 ประเทศ ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกที่องค์การฯ ได้ร่วมกับบริษัทชั้นนำของโลก ตระหนักถึงความทันสมัยที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตยาที่มีคุณภาพสูง และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโรงงาน โดยเข้ารับรางวัลไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประเทศสหรัฐอมริกา ในงานแสดงนิทรรศการและงานประชุมประจำปี ของสมาคม ISPE
รองผู้อำนวยการองค์การฯ กล่าวต่อไปว่า ISPE (International Society for Pharmaceutical Engineering) ได้พัฒนาโครงการรางวัล Facility of the Year Awards เพื่อมอบรางวัลให้กับโรงงานผลิตยาและเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ซึ่งรวมเอาทุกด้านของอาคารเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหนือกว่า คณะผู้ตัดสินรางวัล ประกอบด้วย ผู้นำอุตสาหกรรมที่โดดเด่น และมีประสบการณ์ระดับโลกมากมายเลือกผู้ชนะหมวดหมู่ และรางวัลสถานที่แห่งปีของรางวัลแห่งปี สมาชิกของคณะกรรมการ FOYA แสดงถึงส่วนข้ามของอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ทั่วโลก โดยคณะกรรมการฯ ตัดสินมองว่าโรงงานผลิตยารังสิต 1 ที่มีการออกแบบด้านคุณภาพ และมีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งเป็นโรงงานที่มุ่งหวังผลิตยาที่มีคุณภาพให้ผู้ป่วยเอดส์ได้เข้าถึงยาดี มีคุณภาพ ส่งผลให้มีชีวิตที่ยืนยาว และดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
สำหรับ โรงงานผลิตยารังสิต 1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ขององค์การฯ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และยาทั่วไป ในหมวดยาแคปซูลและยาเม็ด ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา GMP-PIC/S จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และได้รับการรับรองโรงงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO PQ) ในส่วนของยาต้านไวรัสเอดส์ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ มีสายการผลิต 4 สาย แบ่งเป็นยาแคปซูล 1 สาย และยาเม็ด 3 สาย มีกำลังการผลิตถึง 1,700 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี และในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มพื้นที่ Pilot Plant และสายการผลิตที่ 5 รองรับการผลิตยาเม็ด และการบรรจุยาลงแผงแบบความเร็วสูง คาดว่ากำลังการผลิตในอนาคตจะสามารถเพิ่มเป็น 4,500 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี
โรงงานดังกล่าวสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านยาของประเทศ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเภสัชอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการผลิตยา มีการออกแบบระบบให้โรงงานมีศักยภาพในการผลิตสูง โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ด้านคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ตลอดทั้งสายการผลิต การควบคุม และการประกันคุณภาพ การจัดเก็บ การกระจายยา มีการควบคุมสภาวะแวดล้อม ผลิตในห้องสะอาดโดยใช้ระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ (Building Automation System, BAS ) มาควบคุมระบบสำคัญ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมในห้องสะอาดตลอดเวลา ทั้งก่อนผลิต ระหว่างกระบวนการ และหลังการผลิต