กรมธุรกิจพลังงาน สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จริง กรณีนักวิชาการระบุน้ำมันไบโอดีเซลปล่อยสารอันตรายทั้ง ไนโตรเจนออกไซค์ ไฮโดรคาร์บอน และคาร์บอนมอนอกไซด์ ระบุหากพบว่าจริงต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมต่อไป
จากกรณีที่ ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ออกมาระบุว่า ในอดีตได้มีการศึกษาถึงการปลดปล่อยสารอันตรายจากการใช้น้ำมันไบโอดีเซลสัดส่วนต่างๆ เทียบกับน้ำมันดีเซลมาตรฐาน EURO 4 ซึ่งเป็นน้ำมันแบบเดียวกับที่ใช้ในประเทศไทย โดยมีการทดสอบในรถยนต์อายุ 1 ปีจนถึง 5 ปี
ผลการทดสอบพบว่าปริมาณ PM จากการใช้น้ำมันไบโอดีเซลลดลงจริง แต่สารอันตรายชนิดอื่นเช่น ไนโตรเจนออกไซค์(NOX) ไฮโดรคาร์บอน (HC) และ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง NOX ที่เกิดขึ้นจะสามารถทำปฏิกิริยาต่อไปและเกิดเป็น PM2.5 กับ โอโซนในภายหลัง ซึ่งสารอันตรายเหล่านี้เกิดจากกระบวนการสันดาปภายในเครื่องยนต์ดีเซล ที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์ และปล่อยออกเป็นไอเสีย
กรณีดังกล่าว น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้สั่งการให้ผู้ชำนาญการพิเศษของกรมฯ ไปศึกษาหาข้อเท็จจริงว่าน้ำมันไบโอดีเซลมีการปล่อยสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมตามที่นักวิชาการบางรายได้กล่าวไว้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมากรมฯได้ศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลB20(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันาปล์ม 20% ในทุกลิตร) พบว่าช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีนักวิชาการระบุข้อมูลดังกล่าวออมา ทางกรมฯจึงต้องเข้าไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และหากพบว่ามีการปล่อยสารอันตรายอื่นๆ ทางกระทรวงพลังงานจะได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่อไป