ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี คว้ารางวัลแห่งความภูมิใจ “Thailand Green and Smart Mining Award 2019” ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด มาใช้ในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการเหมือง เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไทย แสดงถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการทำเหมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายชนะ ภูมี Vice President - Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า “จากเจตนารมณ์ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจีที่มุ่งประกอบกิจการเหมืองหินปูนที่รับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ได้รับรางวัล Thailand Green and Smart Mining Award 2019 จากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นต้นแบบ (Best Practice) ในการบริหารจัดการเหมืองในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกทั้งเหมืองหินปูนทุกเหมืองของเอสซีจียังได้รับ EIA Awards ระดับยอดเยี่ยม และ Green Mining Awards มาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นไปตามเกณฑ์การรับรางวัล Thailand Green and Smart Mining ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับพิธีมอบรางวัลดังกล่าวได้รับเกียรติจากพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้นในงาน “มิติใหม่เหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 2 : ก้าวใหม่จากนโยบายสู่การปฏิบัติ” ภายในงานยังจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ "ก้าวใหม่ของเหมืองแร่ไทยสู่ Green and Smart Mining" โดยผู้บริหารเอสซีจี ซิเมนต์ ได้ร่วมเสวนา เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูเหมือง การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy นอกจากนี้ ในงานยังมีพิธีประกาศเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 2 ด้วย
“ตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของเอสซีจี อีกทั้งได้ให้ความสำคัญกับการทำเหมืองหินปูนให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด หลักการสำคัญคือการปฏิบัติงานตามการประเมินวงจรชีวิตของเหมือง ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการทำเหมือง และหินปูนที่ผลิตจากเหมืองนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง” นายชนะ กล่าว
นอกจากนี้ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ยังยึดหลักในการบริหารจัดการเหมืองตามนโยบายของเอสซีจีอย่างเคร่งครัด โดยใช้เครื่องจักรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบเหมืองเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบ Semi-Open Cut Mining ซึ่งหากมองจากภายนอก ภูเขาจะยังคงทัศนียภาพเดิมตลอดไป และมีการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยจัดตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเหมืองเพื่อสานต่อภารกิจฟื้นฟูป่า มีการพัฒนาความองค์ความรู้เรื่องการฟื้นฟูเหมืองด้วยตนเองจนเกิดเป็นคู่มือการฟื้นฟูเหมืองเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ที่สนใจ รวมทั้งยกระดับการดำเนินงานฟื้นฟูเหมืองจนเกิดผลสำเร็จด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เหมืองหินปูนอย่างน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ฟื้นฟู เพิ่มความสมบูรณ์ในระบบนิเวศเขาหินปูนอย่างยั่งยืน