ไทยโตแรงสุดในอาเซียนด้วยไลฟ์สไตล์คนดิจิทัล ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโตเกือบ 4 เท่าจาก 10 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มไทย-เทศ ผุดรองรับนักชอปออนไลน์จำนวนมาก แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องรับ 5G ที่จะเกิดนวัตกรรมใหม่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงาน Thailand e-Commerce Week 2019 เมื่อไม่นานมานี้ว่า ผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี โดย ETDA ได้จัดเก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 2557 และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า จากจำนวนเพียง 9.3 ล้านคน ในปี 2551 ปัจจุบันมีคนใช้มากถึง 45 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสารและราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตไปด้วย ทั้งจำนวนผู้ซื้อ ผู้ขายทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับจำนวนแพลตฟอร์ม โดยผู้ประกอบการในไทยและต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การทำการตลาดทางออนไลน์ในปี 2560 สูงถึง 69.92% โดยอันดับแรกที่นิยมมากที่สุดคือ Facebook ทั้งในรูปแบบของการ Boost Post และ Boost Ads เพื่อเข้าถึงลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ด้านผู้ใช้บริการนั้น ได้มีการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยการนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ถึง 100% เพื่อให้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนเพื่อการวางแผนด้านการตลาดมากถึง 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้าที่ 85.71%
ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G จะส่งผลทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้โดรนขนส่งและตรวจตราความปลอดภัย วิดีโอสตรีมมิ่งและถ่ายทอดสดแบบ 360 องศา โลกเสมือนจริงแบบ3 มิติเพื่อการเรียนรู้
สิ่งเหล่านี้จะขับเคลื่อนอี-คอมเมิร์ซไทยให้ไปต่อ เพราะสถิติที่ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน (2560) มี Mobile Subscriber กว่า 124.8 ล้านราย (2561) ผู้ใช้ Line กว่า 44 ล้านคน (2561) ผู้ใช้ Facebook กว่า 52 ล้านราย (2561) และมีแนวโน้มว่ามูลค่าอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยปีล่าสุดจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท (2561) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่างจัดโปรโมชันส่งเสริมทางการตลาด ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายมียอดขายสูงถึง 1.44 พันล้านบาท ด้วยปริมาณการสั่งชื่อสินค้ากว่า 1.7 ล้านชิ้น ในระยะ 3 วัน โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์
ขณะที่ Social Commerce ก็มาแรงไม่แพ้กัน คนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่าน Social Commerce มากเป็นอันดับ 2 รองจาก e-Marketplace เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อง่ายขายคล่อง ลดช่องว่าง (Barrier) ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น
ดังนั้น หากต้องการจะผลักให้อี-คอมเมิร์ซไทยบุกตลาดต่างประเทศก็สามารถทำได้ เพราะเมื่อวิเคราะห์จากจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
เวียดนามชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เครื่องสำอางและสินค้าเกี่ยวกับเด็ก อินโดนีเซียชอบอาหารทานเล่น (Snack) ของไทยมาก อินเดียชอบสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไทย เครื่องสำอาง จีนชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า