“คมนาคม-ก.อุตฯ” รับลูก คจร.เคาะแผนพัฒนาอุตฯ ระบบราง ดันตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ ปท. คาด 20 ปีต้องการกว่า 1,000 ตู้ เร่งชง ครม.กำหนดเป็นเงื่อนไขทีโออาร์ เริ่มใช้ประมูลปี’ 63 คาดสร้างเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 500 ล้าน ประหยัดค่าซ่อมบำรุง 4.3 พันล้าน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาการผลิตระบบขนส่งมวลชนทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 62 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้ข้อมูลจากการพัฒนาโครงการระบบรางของกระทรวงคมนาคมไปทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ
โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีรถโดยสารประมาณ 1,183 ตู้ ส่วนรถไฟฟ้าทุกระบบมีประมาณ 413 ตู้ และคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการตู้รถไฟไม่น้อยกว่า 1,000 ตู้ ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟของไจก้าระบุว่า จุดคุ้มทุนในการตั้งโรงงานประกอบรถไฟอยู่ที่ 300 ตู้/โรงงาน/ปี
จากปริมาณดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ โดยกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมดจะต้องพิจารณาจากผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามโครงการส่งเสริมการผลิตรถไฟ หรือรถไฟฟ้า หรืออุปกรณ์หรือชิ้นส่วน (เฉพาะระบบราง) จากบีโอไอ และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน กำหนดเวลา และเงื่อนไขการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ ดังนี้
ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมดจะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศหรือบริษัทที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้น ภายในปี 2565 จะขยายข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้มีการส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ
ภายในปี 2567 การจัดซื้อจัดจ้างฯ จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% ของราคารถไฟและรถไฟฟ้า และตั้งแต่ปี 2568 การจัดซื้อจัดจ้างฯ จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ที่ผลิตในประเทศทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่
1. ระบบตัวรถ ประกอบด้วย โครงสร้างหลัก (Car Train main Frame) ตู้โดยสาร (Car Body Main Structure) และห้องควบคุมรถ (Operator’s cab) 2. ระบบช่วงล่างของโครงสร้างตัวรถ ประกอบด้วย โบกี้ (Bogie) ระบบห้ามล้อ (Brake System) และอุปกรณ์เชื่อมต่อตู้โดยสาร (Coupler) 3. ระบบขับและควบคุม (Traction and Control System) ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟ (Electrification & Power Supply System) ระบบขับเคลื่อน (Traction System) ระบบสื่อสาร และเฝ้าสังเกตการณ์ (Communication & Monitoring System) และระบบควบคุมและอาณัติสัญญาณ (Train Control & Signaling System)
ทั้งนี้ จะสรุปข้อมูลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และกำหนดเป็นเงื่อนไขในทีโออาร์เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ระบบการเดินรถที่ใช้รูปแบบ PPP และการจัดหารถไฟของ ร.ฟ.ท. ซึ่งการศึกษาพบว่าการผลิตรถไฟทุก 1,000 ตู้จะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท/ปี ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% จะลดการนำเข้าได้มูลค่า 18,000 ล้านบาท ประหยัดค่าซ่อมบำรุงและค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ 4,300 ล้านบาท/ปี
“ตอนนี้รัฐลงทุนระบบรางจำนวนมาก และวางแผนเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศทั้งผู้โดยสารและสินค้า ต้องการขบวนรถจำนวนมาก จะซื้ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย ซึ่งนอกจากลดต้นทุนต่างๆ แล้วจะทำให้มีการพัฒนา วิจัยระบบรางและต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้อีกมาก ซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้” นายชัยวัฒน์ กล่าว