“ไอเจน” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของมิลล์คอนสตีล เซ็นสัญญากับ กฟภ. คว้างานประมูลโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน หาดป่าตอง ภูเก็ต มูลค่ากว่า 199 ล้านบาท เปิดแผนปีนี้ เจาะโครงการขนาดใหญ่ใน 3 ธุรกิจหลัก งานสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย งานพัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งอัจฉริยะ และโครงการการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน หวังเติบโตก้าวกระโดด-ยั่งยืน ลั่นปีนี้รายได้ทั้งกลุ่มทะลุ 1.5 พันล้านบาท
นายพีรยศ รุจิเทศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเจน เอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัทมิลล์คอนสตีล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการว่าจ้างให้บริษัทก่อสร้างปรับปรุงโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน บริเวณหาดป่าตอง ภูเก็ต มูลค่า 199 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้บริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งในอนาคต จากก่อนหน้านี้ที่บริษัทประสบความสำเร็จในการประมูลงานสถานีไฟฟ้าย่อยและงานปรับปรุงโครงข่ายสถานีไฟฟ้าสู่โครงข่ายอัจฉริยะ หรือระบบ Smartgrid ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในปีที่ผ่านมา
นายพีรยศ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ บริษัทไอเจน เอนจิเนียริ่ง จำกัด เตรียมที่จะเข้าร่วมประมูลงานในธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย งานสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย งานพัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งอัจฉริยะ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และในภาพรวมของการรับรู้รายได้ของกลุ่มบริษัทไอเจนฯ ซึ่งจะมีบริษัทลูกอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทไอเจน พาวเวอร์เทค และบริษัทไอเจน เอเนอร์ยี่ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ในปี 2562 นี้
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเจน เอนจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวต่อว่า กุญแจสำคัญอีกประการที่จะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มไอเจนฯ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตคือ บริษัท ไอเจน พาวเวอร์เทค จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแท่งตัวนำหุ้มด้วยโครงอลูมิเนียม หรือที่เรารู้จักกันในนามบัสดัค (Busduct) มีคุณสมบัติสามารถส่งผ่านกระแสไฟจำนวนมากเพื่อใช้ในอาคารหรือโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งตัวบัสดัคนี้มีคุณสมบัติเด่นที่การใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อยกว่าสายไฟ ปลอดมลพิษในขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้และไม่ติดไฟ ติดตั้งง่าย และที่สำคัญคือ โรงงานไอเจน พาวเวอร์เทค เป็นโรงงานบัสดัคที่ได้มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้โรงงานได้สร้างเสร็จและสามารถเริ่มผลิตสินค้าออกสู่ตลาด โดยมีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปีและคาดว่าจะทำรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีภายใน 3-4 ปี
ในส่วนของบริษัท ไอเจน เอเนอร์ยี่ จำกัด ได้เริ่มจากการทดลองทำ Solar Rooftop ขนาดเล็กและขายไฟที่ราคาส่งเสริมแบบ FIT ที่ 6.20 บาทต่อหน่วย มีรายได้โดยรวมประมาณสองล้านบาทต่อปีและยังได้สัญญาดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 27 เมกกะวัตต์ ให้กับบริษัทสยามโซล่าร์ เจนเนอเรชั่น นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเพื่อขายให้กับผู้ใช้เป็นการภายใน (Self-consumption) ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญากับกลุ่มลูกค้าแล้วประมาณ 5 เมกกะวัตต์ คาดว่า ไอเจน เอเนอร์ยี่ จะหนุนรายได้ให้กับกลุ่มไอเจนอีกไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ในปีนี้