กนช. ไฟเขียวแผนฟื้นคลองเปรมระยะเร่งด่วนเคาะงบ 4.4 พันล้าน สร้างเขื่อนคอนกรีต ขุดลอกคลองปรับปรุงและประสิทธิภาพจัดการน้ำคลองเปรมฯ พร้อมมอบ สทนช.เจ้าภาพเร่งฟื้นบึงราชนก-บึงบอระเพ็ดเคลียร์ปัญหารุกล้ำบึง หวังคืนพื้นที่ให้เป็นแหล่งรับน้ำช่วงฝน-แล้งได้เต็มศักยภาพ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระการพิจารณาประกอบด้วย โครงการสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท โดยที่ประชุมได้เห็นความเห็นชอบ 4 โครงการ ได้แก่ 1.การฟื้นฟูคลองเปรมประชากร 2.การฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก 3.การฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 4. โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบทั้ง 4 โครงการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดโครงการต่อไป เนื่องจากเป็นแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี มีผลการศึกษา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม มีความพร้อม และเป็นโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์สูงสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based)
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงและฟื้นฟูคลองเปรมประชากรทั้งระบบตลอดสาย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร โดยมีแผนการดำเนินการ 4 แผนงาน คือ 1.การปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพคลองเปรมประชากรเพื่อการระบายและรักษาคุณภาพน้ำ 2.การพัฒนาระบบควบคุมน้ำในคลองเชื่อมโยง 3.ปรับปรุงพื้นที่แก้มลิง และ 4.การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย โดยระยะเร่งด่วนที่ประชุมได้เห็นชอบดำเนินการตามแผนงานหลักด้านที่ 1 . คือ การปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพคลองเปรมประชากรเพื่อการระบายและรักษาคุณภาพน้ำ กรอบวงเงินรวม 4,466 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 62 - 65 ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ริมคลองเปรมประชากร จากถนนเทศบาลสงเคราะห์-สุดเขต กทม.ระยะทางยาวรวม 26,120 เมตร ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร วงเงิน 3,443 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรช่วงหลักหก-ประตูระบายน้ำเปรมใต้รังสิต โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการในปี 63 – 65 วงเงิน 980 ล้านบาท 3. ขุดลอกคลองเปรมประชาการจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.8 กม. และติดตั้งตะแกรงพร้อมเครื่องคราดขยะ ปตร.เปรมใต้รังสิต โดยกรมชลประทาน ดำเนินการในปี 62 วงเงิน 43 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่ประชุมได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน ดำเนินการตามกรอบแผนฯ ดังกล่าว และจัดทำรายละเอียดให้ครบทุกองค์ประกอบเพื่อเสนอ ครม. เห็นชอบเปิดโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณในแต่ละปี เพื่อให้การฟื้นฟูคลองเปรมมีความต่อเนื่องและแล้วเสร็จตามแผน โดยให้ สทนช. ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินการให้ กนช. ทราบเป็นระยะๆ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก ประกอบด้วย แผนงานหลัก 4 ด้าน 11 แผนงาน 23 โครงการ หน่วยงานร่วมดำเนินการ 19 หน่วยงาน งบประมาณรวม 1,450 ล้านบาท โดยแผนงานหลัก 4 ด้านเน้นดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพบึงตื้นเขิน เพิ่มปริมาณความจุน้ำในบึง การบริหารจัดการน้ำทั้งหน้าฝนและแล้ง และการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มศักยภาพ ประกอบด้วย 1. เพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำ โดยปรับปรุง ขุดลอกคลองสาธารณะ และก่อสร้างฝายยกระดับน้ำให้เข้าสู่บึงราชนก 2. ปรับปรุงทางน้ำเข้าและขุดลอกบึงราชนก กำหนดขอบเขตพื้นที่บึงให้ชัดเจนโดยปรับปรุงยกระดับถนนรอบบึง 3. ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน สนับสนุนความสำคัญของคุณภาพน้ำและการพัฒนาบึงราชนกให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และ 4. สร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยโครงการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที และแล้วเสร็จภายใน 3 ปี (62 - 65) มี 11 โครงการ วงเงิน 754.56 ล้านบาท เช่น แผนงานการเพิ่มศักยภาพการเติมน้ำเข้าบึงราชนก แผนงานขุดลอกพื้นที่บึงราชนกอย่างเป็นระบบ แผนงานการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่นเดียวกันแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ โดยมีแผนหลัก 6 ด้าน จำนวน 56 โครงการ วงเงิน 5,701.5 ล้านบาท ซึ่ง สทนช.ได้คัดเลือกแผนงานเร่งด่วน 9 โครงการ ที่ต้องเร่งดำเนินการ วงเงิน 1,513.5 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการปรับปรุงประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ขุดลอกบึงบอระเพ็ดและขุดคลองดักตะกอน ขุดลอกคลองวังนา และตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่บึงบอระเพ็ด เพื่อให้ทั้งสองบึงกลับมาใช้ประโยชน์ในการเก็บกักน้ำ และรองรับน้ำในช่วงน้ำหลาก โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำทั้งสองบึง และมอบหมายให้ สทนช.ติดตามประเมินผลการดำเนินงานและรายงานผลให้ กนช.ทราบเป็นระยะต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบดำเนินการโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ขุดคลองผันน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) ทั้งระบบ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเติม – 2564 วงเงิน 1,717 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าที่ดิน จำนวน 537 แปลง งานขุดคลองผันน้ำคลองชุมพร (ช่วงที่ขุดใหม่) ความยาว 3.343 กิโลเมตร ก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 4 แห่ง พร้อมส่วนประกอบโดยอยู่บริเวณปากคลองผันน้ำ จำนวน 1 แห่ง และในคลองชุมพร จำนวน 3 แห่ง งานขุดขยายและขุดลอกคลองชุมพรเดิมความยาวรวม 21.701 กิโลเมตร และงานก่อสร้างอาคารระบายน้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน จัดทำรายละเอียดนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบการดำเนินการโครงการและกรอบวงเงินต่อไป ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ชุมชนตอนล่างของอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร พื้นที่น้ำท่วม ประมาณ 37,500 ไร่ ราษฎร 16,802 ครัวเรือน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสายเอเชีย 41 ลดปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำคลองชุมพรได้อย่างยั่งยืนและเป็นแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้ง สามารถป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าสู่พื้นที่การเกษตรกรรม และพื้นที่ตัวเมืองชุมพร รวมระยะทางในลำน้ำ 14 กิโลเมตร ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศรวมทั้งผลดีต่อความมั่นคงของชุมชนและสังคมของจังหวัดชุมพร