พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.สกลนคร ติดตามการก่อสร้าง ปตร.ลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ มั่นใจแล้วเสร็จภายในปี 2566 ด้าน สทนช. เล็งแก้ไขปัญหาจัดการน้ำหนองหาร ผุดแผนหลักดึง 9 หน่วยงานร่วมบูรณาการ
วันนี้ (7 มี.ค.62) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้าง ปตร. ลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร โดยมีนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ลำน้ำพุง-น้ำก่ำ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2535 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุงและลำห้วยต่างๆ เขตบ้านตองโขบ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในที่ราบตอนล่างบริเวณหนองหารในช่วงฤดูฝน และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและแก้มลิง ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอโคกศรีสุพรรณ และอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร แต่สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ได้บางส่วนเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงมีแนวคิดในการก่อสร้างประตูระบายน้ำขึ้นที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ เพื่อเป็นการตัดยอดน้ำหลากจากลำน้ำพุงลงสู่ลำน้ำก่ำ และลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่หนองหาร
โครงการ ปตร. ลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อการประชุม ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ ปตร. ลำน้ำพุง-น้ำก่ำฯ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ขณะนี้ กรมชลประทานได้ปักหลักเขตชลประทาน รังวัดที่ดิน และการขอใช้ที่ดิน พร้อมทั้งได้จัดทำรายงานศึกษาวางโครงการ สำรวจออกแบบรายละเอียด ตลอดจนศึกษาด้านสังคมแล้ว ซึ่งราษฎรในพื้นที่เห็นด้วยที่จะให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโดยเร็ว เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เป็นประจำเกือบทุกปี ลักษณะการดำเนินโครงการประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ คลองผันน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 3 สาย ความยาวรวม 42.46 กิโลเมตร และระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โดยใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 2,100 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่างปี 2562-2566
“เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มประสิทธิภาพการผันน้ำหลากจากลำน้ำพุงที่จะไหลสู่พื้นที่อำเภอโคกศรีสุพรรณและพื้นที่น้ำพุงตอนล่าง โดยการผันน้ำไปยังลำน้ำก่ำ สามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหารได้ 40% นอกจากนี้ยังเป็นการทดน้ำ เพิ่มการระบายน้ำและส่งน้ำชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำพุงและลุ่มน้ำก่ำ ครอบคลุมพื้นที่ 78,358 ไร่ มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 53 หมู่บ้าน 10,857 ครัวเรือน และยังช่วยรักษาระบบนิเวศของลำน้ำได้อีกด้วย" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช. ได้วิเคราะห์พื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 พื้นที่ รวม 11.86 ล้านไร่ แบ่งเป็น 14 พื้นที่ปัญหา (ท่วม+แล้ง 13 พื้นที่ และแล้ง 1 พื้นที่) รวม 11.82 ล้านไร่ และ 2 พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 0.04 ล้านไร่ โดยจังหวัดสกลนคร เป็น 1 ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2557-2561 การพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดสกลนคร มีหน่วยงานที่เข้าไปดำเนินการรวม 12 หน่วยงาน มีโครงการทั้งหมดรวมจำนวน 738 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 26 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์ 209,533 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 56,555 ครัวเรือน
สำหรับการดำเนินการใน ปี 2562 มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ (ทั้ง 2 โครงการ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62) โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านพุ่ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นโครงการที่ สทนช. ร่วมกับจังหวัดสกลนครทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักอย่างเป็นองค์รวม มีทิศทางและกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปดำเนินการได้ โดยแบ่งระยะเวลาการพัฒนาหนองหาร 10 ปี เป็นแผนระยะเร่งด่วนระหว่างปี 2563-2564 แผนระยะปานกลางระหว่างปี 2565-2567 และแผนระยะยาวระหว่างปี 2568-2572 โดยมี 9 หน่วยงาน ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน กรมประมง กรมโยธาและผังเมือง กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสกลนคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณการแผนดังกล่าวโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทัง 6 ด้าน อาทิ การฟื้นฟูหนองหารให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค การจัดการน้ำเสียจากชุมชน และการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่โดยรอบและลำน้ำก่ำ เป็นต้น
ส่วนแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ของจังหวัดสกลนคร มีจำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,176 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 9,487 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 11,244 ครัวเรือน ได้แก่ 1.โครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนอากาศอำนวย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 2,231.25 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 4,331 ครัวเรือน 2. โครงการประตูระบายน้ำบ้านนาถ่อน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 6,000 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 500 ครัวเรือน 3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ หนองหาร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 50 ล้าน ลบ.ม. และ 4.โครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือสกลนคร จังหวัดสกลนคร เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 1,256.25 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 6,413 ครัวเรือน