นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและโค โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าร้อนนี้เป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม มีโอกาสสูงที่จะไปเล่นกับสุนัขหรือแมวที่ไม่รู้จักประกอบกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง และบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 18 ราย ซี่งมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ระยอง สงขลา และตากจังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร
และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยข้อมูลจากการสอบสวนโรค พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับวัคซีนภายหลังจากที่โดนสัตว์กัดหรือข่วน และในปี 2562 นี้ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ หากถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากต้องฉีดวัคซีนควรฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัด จึงจะได้ผลเพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท และแสดงอาการป่วยออกมาแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ โดย 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน แม้จะเป็นสุนัขในบ้านที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม อาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากที่สุนัขของตนเองที่ไปเล่นกับสุนัขจรจัดนอกบ้านได้ ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ 2.รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ดังนี้ อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย
3. หากถูกสุนัข หรือแมวกัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422