นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งประเด็นสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายเชิงเหตุและผลที่ซับซ้อน และส่งผลกระทบในวงกว้างที่รุนแรงต่อสังคม ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้นำทางสังคมตามวิสัยทัศน์ที่มีบทบาทสำคัญในการชี้เป้า เฝ้าระวังทางสังคมและการรายงานสถานการณ์ทางสังคมทั้งเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยเฉพาะ "ข้อมูลสถานการณ์ทางสังคมจังหวัด” เนื่องจากเป็นข้อมูลที่สะท้อนภาพของจังหวัดในหลากหลายมิติ ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์เชิงเหตุและผลอย่างเป็นระบบ เพื่อบ่งชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญทางสังคมที่เกิดขึ้น และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือ สำหรับผู้บริหารในการวางแผนเชิงนโยบาย มาตรการ กลไก การป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคม และการแก้ไขปัญหาของจังหวัดจนถึงระดับประเทศ
นายปรเมธี กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกองมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กมพ.) สำนักงานปลัดกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนงานวิเคราะห์และรายงานสถานการณ์ทางสังคมทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่สู่การเฝ้าระวังสถานการณ์ทางสังคม จึงได้กำหนดจัด "การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำรายงานสถานการณ์ทางสังคมจังหวัด ประจำปี 2562” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันให้กับบุคลากรของกระทรวง พม. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการกำหนดรูปแบบ ประเด็น และทิศทางการจัดทำรายงานสถานการณ์ทางสังคมที่มีความเป็นสากล สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และบริบทของพื้นที่ รวมทั้งให้หน่วยงานมีข้อมูลสถานการณ์ทางสังคมจังหวัด สามารถนำรายงานไปใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารเชิงนโยบาย การป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า การรายงานสถานการณ์ทางสังคมจังหวัดในมิติเชิงพื้นที่ต้องมีความถูกต้อง สอดคล้องกับ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และบริบทของพื้นที่ ทำให้สามารถสะท้อนปัญหาสังคมจังหวัดได้อย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์อย่างแท้จริงทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวัง เตือนภัย รวมทั้งหาแนวโน้มและทิศทางการวางแผน มาตรการ กลไกในการป้องกันความเสี่ยงของปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีทักษะในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์ทางสังคม ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และมีคุณภาพ พร้อมกับมีข้อเสนอแนะทางเลือกให้กับผู้บริหารในการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านสังคม ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่
"ทั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้รับความรู้ ทักษะ และหลักการเก็บข้อมูลด้านสังคม พร้อมทั้งนำไปปรับใช้ในการวิเคราะห์และเขียนรายงานสถานการณ์ทางสังคมให้มีประสิทธิภาพ สามารถบ่งชี้ถึงสภาพสถานการณ์เชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมาย เพื่อการบูรณาการการวางแผนป้องกันและพัฒนาพื้นที่เชิงรุก รวมถึงการกำหนดนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคมของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ต่อไป”