นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯโดยกรมปศุสัตว์จัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ระยะ 8 มาตรการ โดยเสนอเป็นวาระแห่งชาติ มีกรอบงบประมาณดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2562 - 2564) เป็นเงิน 1,822,542,900 บาท ประกอบด้วย 1) การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค 2) การทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร และ 3) งบกลางปีงบประมาณ 2562 สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินใช้เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
สำหรับแผนเตรียมพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย ที่มีระยะดำเนินการ 3 ระยะ ประกอบด้วย 1) ระยะก่อนเผชิญเหตุระบาด 2) ระยะเผชิญเหตุระบาด และ 3) ระยะหลังเผชิญเหตุระบาด ซึ่งมีแนวทางดำเนินการ 8 มาตรการ คือ 1) บริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ 2) การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันโรคเข้าฟาร์ม 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังโรค 5) การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการ 6) การพัฒนาควบคุมโรค 7) การเพิ่มศักยภาพสื่อสารความเสี่ยง และ 8) การจัดการฟื้นฟูเกษตรกร
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ตรวจยึดผลิตภัณฑ์และผลตรวจพบสารพันธุกรรมของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 20 ก.ย. 2561-27 ก.พ. 2562) ตรวจยึดได้ที่ สนามบินแม่ฟ้าหลวง สนามบินภูเก็ต สนามบินสุราษฎร์ธานี และสนามบิน อู่ตะเภารวม 209 ครั้ง ปริมาณ 5,766 กิโลกรัม มีจำนวนส่งตรวจ 331 ตัวอย่าง ผลตรวจที่ให้ผลบวก 22 ตัวอย่าง
"อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะไม่ติดต่อถึงคน แต่โรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ไม่มียารักษา เชื้อคงทนใน สิ่งแวดล้อม และมีอัตราการตายของสุกรสูง สุกรที่ป่วยแล้วไม่ตายจะเป็นพาหะตลอดชีวิต แต่กระทรวงเกษตรฯยืนยันจะควบคุมป้องกันการเกิดโรคหรือการนำเข้าสุกร ไม่ให้กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสุกรของประเทศไทยต่อไป" นายลักษณ์ กล่าว