นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ “ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คมนาคมทุกโหมด ตอบโจทย์ประเทศไทย” โดยระบุว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน และให้ถือเป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ประกอบกับคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแปลงเป็นแผนงาน โครงการ แผนปฏิบัติการ และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูง เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สังคม ให้มีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ อำนวยความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
โดยมีกรอบการดำเนินงานประกอบด้วย การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง (Integrated Transport Systems) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการขนส่ง การบริการภาคคมนาคมขนส่ง (Transport Services) ให้มีมาตรฐานสากล และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและปฏิรูปองค์กร (Regulations and Institution) การพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (Technology and Innovation)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงจะนำเสนอโครงการที่กระทรวงคมนาคมเร่งรัดเพื่อให้สามารถเดินหน้าได้ภายในเดือนมีนาคม 2562 รวม 21 โครงการ ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี – สงขลา ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ และช่วงบ้านไผ่ – นครพนม รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ) รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หัวหิน รถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ และสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน – ศาลายา และตลิ่งชัน – ศิริราช
ทางถนน ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ทางน้ำ ขยายท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) และปรับปรุงท่าเรือระนอง ทางอากาศ จัดหาฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) โครงการก่อสร้างอาคารแซทเทิลไลท์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1.29 ล้านล้านบาท รวมถึงการนำเสนอภาพรวมยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท ซึ่งโครงการส่วนใหญ่มีการดำเนินการที่เห็นเป็นรูปธรรมและบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – โคราช ที่จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปีนี้ ท่าอากาศยานเบตง จะเปิดให้บริการได้ปี 2563 ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นโครงการที่ดำเนินการในปี พ.ศ. 2566 – 2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี พ.ศ. 2571 – 2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท และระยะที่ 4 ดำเนินการในปี พ.ศ. 2576 – 2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอมุมมองในฐานะภาครัฐที่ช่วยผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโฉมหน้าการคมนาคมของประเทศในอนาคตภายหลังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีวิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงข้อเสนอแนะ หรือความต้องการของภาคการท่องเที่ยวและเอกชน เพื่อให้การพัฒนาโครงการในอนาคตตอบสนองความต้องการ ของทุกภาคส่วนมากที่สุด