รัฐมนตรีเกษตรฯ แจงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศเตรียมรับมือภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง พร้อมเร่งขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญด้านเกษตร
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลออนไลน์ (Web Conference) เรื่อง การเตรียมมาตรการรับมือภัยแล้งและมอบนโยบายด้านการเกษตร ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคในการเตรียมการรับมือภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง แม้ว่ากรมชลประทานยืนยันว่า จะมีน้ำใช้จนถึงพฤษภาคมนี้ก็ตาม แต่มีการคาดการณ์ว่าหน้าแล้งนี้จะแล้งและร้อนยาวนานกว่าปกติ ซึ่งได้มอบนโยบายในการรับมือภัยแล้งนี้โดยเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อาทิ ชลประทานจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น
โดยจะใช้กลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.พ.ก.) เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ชลประทานจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจปริมาณน้ำที่มีในพื้นที่ คือ น้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อใช้ในระบบอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ ว่ามีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของประชาชนและเกษตรกรหรือไม่ จากนั้นจะประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อเตรียมมาตรการในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม แล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบสถานการณ์และดำเนินการต่อไป
รวมทั้งให้เน้นการประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ผ่านหอกระจายข่าวของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ในการขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด สำหรับการบัญชาการงานในส่วนกลางได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งศูนย์และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งเพิ่มเติม โดยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานความก้าวหน้าทุกสัปดาห์ด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มต้นแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่ได้รายงานต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปแล้ว โดยเบื้องต้นให้สำรวจและรวบรวมพื้นที่ที่ทำเกษตรเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ เพื่อนำมาบูรณาการร่วมกับแผนปฏิบัติการที่ได้วางแนวทางไว้ ซึ่งมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดูแลภาพรวมและขับเคลื่อนแผนต่อไป ขณะที่การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา นั้น ได้เน้นย้ำให้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตรให้อยู่ในเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานต่อ โดยให้ริเริ่มระบบวิสาหกิจแปลงใหญ่ควบคู่กันไป
สำหรับความก้าวหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยไปแล้วเกือบ 100% ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 สืบเนื่องจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย นั้น ได้ข้อสรุปว่าจะรับซื้อเรือจำนวน 305 ลำ โดยมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินรอบแรก 30% อีก 70% เจ้าของเรือจะต้องทำแผน และทำลายเรือจริง จึงจ่ายส่วนที่เหลือ ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และเจ้าของเรือจะต้องไม่นำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในการทำประมงที่ผิดกฎหมายอีกต่อไปด้วย
โดยก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งได้เริ่มขึ้นแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก อาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ตลอดจนการผลิตน้ำประปา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การเน้นใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคอย่างประหยัด รวมทั้งได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกรมชลประทานยืนยันว่า มีปริมาณน้ำเพียงพอให้ประชาชนใช้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เขตชลประทานในการประชาสัมพันธ์ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานได้มอบหมายให้ชลประทานจังหวัดเป็นเจ้าภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อเป็นข้อมูลในการนำมาบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้
ด้ายนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2562 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 5 ศูนย์ ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยมีแผนปฏิบัติการ ดังนี้
1) แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง 2) แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ 3) แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า 4) แผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วที่จังหวัดระยอง นครสวรรค์ พิษณุโลก และขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมพื้นที่จำนวน 16 จังหวัด ปฏิบัติการไปแล้วทั้งสิ้น 17 วัน 92 เที่ยวบิน