ชุมชนบ้านลำขนุน ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นชุมชนติดริมป่าต้นน้ำริมเทือกเขาบรรทัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ สายน้ำ มีคลองหลายสายด้วยกัน ชุมชนบริเวณนี้ชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณปี พ.ศ. 2470 โดยบ้านลำขนุนเดิมเป็นกลุ่มบ้านหนึ่งในหมู่ที่ 4 บ้านลำพิกุล ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นและเพื่อสะดวกในการปกครองจึงมีการแยกเป็นหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2527 สำหรับชื่อลำขนุน มาจากมีต้นขนุนปานต้นใหญ่อยู่ริมลำคลองในชุมชน ชาวบ้านจึงเรียกคลองลำขนุน และใช้เป็นชื่อหมู่บ้านว่าเป็นลำขนุนจนถึงปัจจุบัน
จุดโดดเด่นของหมู่บ้านนี้ในการพื้นที่เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากลับวิถีชุมชนเกี่ยวกับเกษตรทั้งการปลูกพืชผักผสมผสาน การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และการมีแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เตาถ่านนาชุมเห็ด พลังงานทดแทนจากก๊าชชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติเป็นที่ตั้งทั้งภูผาหมอก น้ำตกสายรุ้ง คลองลำขนุน คลองลำพิกุล เป็นต้น รวมถึงความพร้อมของที่พักโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานรับรองของกรมการท่องเที่ยว ต้นทุนของชุมชนเหล่านี้นำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน นั้นจึงเป็นมนต์เสน่ห์
โดยบ้านลำขนุน เคยต้อนรับคณะนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร มาศึกษาดูงานไร่นาสวนผสม พลังงานชุมชนตำบลนาชุมเห็ด และภูมิปัญญา ลำขนุน การแกะสลักรูปหนังตะลุง ณ ศูนย์เรียนรู้ไรนาสวนผสม ศูนย์เรียนรู้พลังงานชุมชน บ้านลำขนุน หมู่ที่ 8 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง หนึ่งในรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ของหมู่บ้านสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดตรัง ปี 2560
นอกจากนี้ยังมีความสวยงามของทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น ภูผาหมอก มีกิจกรรมพายเรือคายัค สามารถล่องไปตามคลองลำพิกุลซึ่งเป็นลำคลองสายหลัก มาบรรจบกับคลองลำขนุน น้ำตกสายรุ้ง คลองลำโท่ คลองลำปินะ ระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะสามารถสัมผัสสายน้ำใส ธรรมชาติสวนยางพารา สลับสวนผลไม้ตลอดสองข้างคลองรวมถถึงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง มโนราห์ และหนังตะลุง มีกิจกรรมเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม คือ การแกะสลักหนังตะลุง ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมทำหนังตะลุงได้อีกด้วย ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้ถือเป็นวัฒนธรรมที่แปลกใหม่และสร้างความสนใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังมีกิจกรรมเรียนรู้ศึกษาดูงาน รวมถึงการผสมผสานการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเชิงวัฒนธรรม ซึ่งชุมชนบ้านลำขนุนมีความโดดเด่นในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ศึกษาดูงานด้านพลังงานชุมชน รับรางวัลระดับประเทศและด้านไร่นาสวนผสมและระดับเขตภาคใต้ เช่น ฐานเรียนรู้พลังงานประกอบด้วย ฐานย่อยเรียนรู้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่เป็นการพัฒนาเตาเพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดรายจ่ายในครัวเรือนทั้งเตาซุปเปอร์อั้งโล่ เตาเศรษฐกิจ เตาชีวมวล เตาฟืนนาชุมเห็ด ฐานย่อยเรียนรู้ระบบแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ที่นำมูลสัตว์ที่ก่อมลภาวะทางมลพิษมาสู่การหมักเป็นแก๊ส ลดการใช้แก๊สหุงต้ม ลดรายจ่ายในครัวเรือน ฐานเรียนรู้ไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชนขนาดเล็ก ที่บริหารจัดการโดยสหกรณ์ชุมชน านเรียนรู้พลังงานอบแสงอาทิตย์ได้แก่ โรงอบแห้งยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยมีค่าวิทยากรฐานไร่นาสวนผสม 1000 บาทต่อคณะ ค่าวิทยากรฐานพลังงานฐานย่อยละ 600 บาท
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยมีเส้นทางการเดินขึ้นเทือกเขาบรรทัดระยะทาง 9 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ และร่องรอยประวัติศาสตร์ค่ายคอมมิวนิสต์ในอดีต สำหรับป่าแบ่งได้เป็นป่า 3 ชั้น ได้แก่ชั้นแรก เป็นป่าโปร่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งไม้หลุมพอ สะตอ กระท้อนป่า ไม้เคียน ไม้แดง เป็นต้น ป่าในชั้นนี้ชาวบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์หาของป่า ทั้งสะตอ น้ำผึ้งผลไม้ป่า ชั้นที่สอง จะเป็นป่าเฟิร์นมีไม้ขึ้นบ้างแต่ขนาดเล็กกว่าชั้นแรกตามต้นไม้จะมีเฟิร์นเกาะอยู่ สภาพอากาศมีความชื้น ในชั้นนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของป่าต้นน้ำ ชั้นที่สาม เป็นชั้นไม้แคระซึ่งเป็นพวกต้นเสม็ดชุน หวายนั่ง ยักษ์ บัวแฉก ดอกไม้หลากสีสันทั้งสีขาว ม่วง แดง จุดเด่นของป่าชั้นที่สาม คือ จุดชมวิวภูผาหมอก หมอกปกคลุมตลอดวัน สภาพอากาศจึงมีความหนาวเย็นโดยเฉพาะใกล้รุ่งจนถึงเช้า นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชแล้ว ยังมีพันธุ์สัตว์ป่าอีกหลายชนิด อาทิ สมเสร็จ เลียงผา ลิง นก เป็นต้น โดยยอดภูเขาในระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร
น่าไปใช่ไหมล่ะครับ ซึ่งถ้าใครมาเที่ยวที่หมู่บ้านลำขนุนแล้วกำลังมองหาที่พักอยู่ล่ะก็ ที่นี้ก็มีที่พักโฮมสเตย์ของชุมชนอยู่ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และร่องรอยประวัติศาสตร์ค่ายทหาร ของกองทัพปลดแอก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในอดีต ที่ภูผาหมอก เทือกเขาบรรทัด ... พายเรือคายัคล่องไปตามลำคลองลำพิกุล ลำคลองสายหลัก และจะมีคลองมาบรรจบทั้งคลองลำขนุน น้ำตกสายรุ้ง คลองลำโท่ คลองลำปินะ สัมผัสสายน้ำใส ธรรมชาติสวนยางพารา สลับสวนผลไม้ตลอดสองข้างคลองโดยที่ตั้งนั้นจะอยู่ที่ ต.นาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว ตรัง 92140 หรือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ : 085-478-1044 และ 085-794-0376