“รมช.วิวัฒน์” เยือนกระทรวงการต่างประเทศ ชู หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แนะการพัฒนาทั้งปวงต้องเริ่มจาก “พัฒนาคน”ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : หนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้แก่ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับและร่วมรับฟังการบรรยาย พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยการบรรยายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจในคุณค่าและประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดทั้งให้สามารถนำสาระที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจ รวมทั้งดำรงชีวิตให้มีคุณภาพและมีความสุขอย่างยั่งยืน
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ และแบ่งปันแนวทางการพัฒนาไปยังนานาประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยและทั่วโลกจำเป็นต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การขาดแคลนน้ำ ความล้มเหลวในการบรรเทา climate-change ส่งผลกระทบให้ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกทำลาย เกิดการชะล้างพังทลายหน้าดิน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาในภาวะที่ไม่ปกติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตรัสว่า เราต้องบริหารแบบคนจน แบบที่ไม่ยึดติดกับตำรามากเกินไป ทำด้วยความสามัคคี มีความเมตตาต่อกัน ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้อยู่ร่วมกันและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านพ้นไปได้
“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงชี้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน หรือระดับประเทศ ในการปฏิบัติงานหรือบริหารพัฒนาประเทศให้ดำเนินไปด้วยความไม่ประมาท พระองค์ทรงทำตัวอย่างให้คนไทยได้เห็นผ่านโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จกว่า 4,741 โครงการ มากกว่า 47,000 บทเรียน ทำให้ทั่วโลกให้การยอมรับและมอบรางวัลให้พระองค์ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (IUSS Humanitarian Soil Scientist Award) และรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หนทางไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มที่การพัฒนา “คน” โดยเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนให้มีความสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี พร้อมทั้งลงมือปฏิบัติในพื้นที่ที่จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมบูรณาการจากหลายภาคส่วน มีเป้าหมาย คือ สร้างความพอมีพอกินก่อน ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา เป็นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นแกนหลัก และภาคีอื่นๆ เข้าร่วมอย่างบูรณาการ เพื่อส่งเสริมกลไกเดิมของภาครัฐที่มีอยู่แล้ว โดยขับเคลื่อนใน 3 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น/ชุมชน ระดับชาติ และระดับจังหวัดภายใต้การมีส่วนร่วม 7 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และภาคศาสนา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศได้อย่างยั่งยืน