ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการส่งน้ำมันสายเหนือด้วยระบบท่อขนส่งน้ำมันที่คลังน้ำมันพิจิตร ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วและจะเป็นสถานที่เก็บน้ำมันสำรองของประเทศ ซึ่งประชาชนจะมีน้ำมันใช้โดยไม่ขาดแคลนในยามฉุกเฉินและภัยพิบัติ อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ ลดความเลื่อมล้ำของราคาน้ำมัน อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่งน้ำมันโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกน้ำมัน
นอกจากนี้ระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพลังงานของประเทศที่สำคัญซึ่งจะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหลังจากเดือนพฤษภาคม 2562 ที่เริ่มเข้าสู่การส่งน้ำมันด้วยระบบท่อขนส่งก็จะทำให้หลายจังหวัดภาคเหนือและจังหวัดลำปางมีโอกาสใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลงเนื่องจากค่าขนส่งที่ลดลง ราคาน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวก็จะใกล้เคียงกับราคาน้ำมันในกรุงเทพมหานครก็คือราคาน้ำมันจากหัวจ่ายหน้าปั๊ม จะถูกลง 20-30 สตางค์ต่อลิตร
"หลังจากนี้จะมีการศึกษาโครงการระยะที่ 3 ต่อไปในอนาคต โดยมีแผนจะสร้างสถานีเพิ่มแรงดันที่จังหวัดแพร่และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่อขนส่งน้ำมันสามารถต่อขยายเพื่อขนส่งน้ำมันอากาศยานไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคลังน้ำมันของระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือนอกจากจะเป็นศูนย์กลางการจ่ายน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือแล้วนั้น ยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่สามารถรองรับการขนส่งน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วยสำหรับการศึกษาในครั้งนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งคลังน้ำมันพิจิตรเป็นจุดจ่ายน้ำมันผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงประเทศพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม (มะละแหม่ง-เมียวดี/แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร/สะหวันนะเขต-ดองฮา-ดานัง) และคลังน้ำมันนครลำปางตั้งอยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงประเทศจีน-พม่า-ลาว-ไทย (คุนหมิง-เชียงรุ่ง-ต้าหลั่ว-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก/แม่สาย)"ดร.ศิริ กล่าว
สำหรับโครงการก่อสร้างระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาล ที่กลุ่มบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS Group เป็นผู้ลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท โดยมอบให้ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อมากว่า 28 ปีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันที่สามารถขนส่งน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันเบนซินพื้นฐานออกเทน 91 และ 95 ในท่อเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ส่วนต่อขยายจากท่อขนส่งน้ำมันเดิมของ FPT จากคลังน้ำมันบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังคลังน้ำมันพิจิตร อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร (บางปะอิน-กำแพงแพชร-พิจิตร) ระยะทาง 367 กม. และ ระยะที่ 2 จากสถานีเพิ่มแรงดันและแยกระบบท่อกำแพงเพชรไปยังคลังน้ำมันนครลำปาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง (กำแพงเพชร-ลำปาง) ระยะทาง 209 กม. รวมระยะทางทั้งสิ้น 576 กม. และมีความสามารถในการขนส่งน้ำมันได้ 9,000 ล้านลิตรต่อปี