บ้านแม่ละนา เดิมชื่อ “แม่ลัดนา” เนื่องจากมีแม่น้ำไหลผ่านทุ่งนาและหมู่บ้าน ต่อมามีการออกเสียงเพี้ยนจนกลายเป็น “แม่ละนา” บ้านแม่ละนามีอายุมากกว่า 200 ปี เป็นชุมชนไทยใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบในหุบเขาและใกล้แหล่งน้ำ คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรและรับจ้างทั่วไป ในชุมชนเป็นสายเครือญาติกันเกือบทั้งหมด ยังคงมีความเป็นพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เนื่องจากเป็นชาวไทยใหญ่ จึงมีความเชื่อและวิถีการดำเนินชีวิตในหลักพุทธศาสนา ความเชื่อ และประเพณี การทำกิจกรรมเพื่อยังชีพยังเน้นการปฏิบัติทางศาสนาเป็นสำคัญ เช่น ในวันพระ ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ คนในชุมชนจะไม่มีกิจกรรมที่ทำลายชีวิตผู้อื่น ซึ่งหมายถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มี เพราะด้วยอาชีพหลักของคนท้องถิ่นต้องมีการล่าสัตว์เพื่อยังชีพและต้องมีการเพาะปลูก การถางป่าเพื่อให้สามารถทำกินได้ ทำให้เกิดการทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในวันพระจึงถือเป็นวันที่มีการละเว้นการทำบาป ในปัจจุบันมีกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ถูกถ่ายทอดและฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เช่น การรำนก รำโต การจัดงานปอยส่างลอง หรือบวชลูกแก้ว เป็นต้น
สำหรับบ้านแม่ละนาหากใครไปจะเหมาะอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวด้านวัฒนธรรม เนื่องจากแหล่งชุมชนในภูมิภาคแม่ฮ่องสอนมักจะมีการสืบสานวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่ไม่เหมือนใคร เช่น การทำข้าวย่ากู่ ซึ่งเป็นประเพณของชาวไทใหญ่ เป็นการทำข้าวเหนียวแดง มักจะทำกันเดือน 3 ก่อนก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน เสมอ โดยประเพณีนี้มีความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกไปบิณฑบาตรตามหมู่บ้านในท้องนาท้องไร่ บังเอิญขณะนั้นเกิดฝนตกทำให้พระพุทธเจ้าเปียกฝน จึงได้เข้าไปผิงไฟในโรงนา ขณะนั้นชาวนาเจ้าของโรงนา กำลัวกวนข้าวหย่ากู๊ เมื่อทำเสร็จก็นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังไม่ฉันท์ แต่นั่งผิงไฟ ชาวนาจึงใส่ฟืนเพิ่มขึ้นจนผ้าสบงจีวรของพระพุทธเจ้าแห้งดีแล้ว จึงถวายข้าวหย่ากู๊ โดยมีความเชื่อว่า ชาวนา หรือผู้ที่ทำนามีความเชื่อว่าถ้าได้ทำข้าวหย่ากู๊ไปถวายตามวัด และให้ทานกับเพื่อนบ้าน แล้วจะทำให้ในปีต่อไปทำนาจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อพูดถึงแหล่งวัฒนธรรมของบ้านแม่ละนาแล้วเรื่องของการท่องเที่ยวมักจะอิงอยู่กับธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ เพราะบ้านแม่ละนาอยู่ใกล้กับป่า จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการพจญภัยและหาความท้าทาย ซึ่งพิกัดสำหรับเที่ยวของบ้านแม่ละนาส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะถ้ำ เช่น ถ้ำแม่ละนา ซึ่งอยู่ที่บ้านแม่ละนาห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 83 กม. เป็นถ้ำที่มีธารน้ำไหลลอดผ่านยาวประมาณ 12 กม. ถือว่ามีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการสำรวจมา รวมไปถึงถ้ำเพชร ที่มีความยาว 300 ม. ลักษณะเป็นโถงถ้ำ มีหินงอกหินย้อยรูปกรวย คล้ายโคนของต้นสนภูเขา มีการก่อตัวของผลึกเกิดเป็นประกายระยิบระยับคล้ายเพชร
แต่ถ้าใครไม่ชอบการพจญภัยมากนักที่นี้ก็มีแหล่งเที่ยวสไตล์ชิว ๆ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ นามน-ห้วยปางตอง เป็นกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมกล้วยไม้ และเฟิร์น ชมวิวพื้นที่อำเภอปางมะผ้า ตกปลาในลำห้วยโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ศึกษาสมุนไพรพื้นบ้าน ใช้เวลา 1 วัน
สำหรับการที่พักค้างคืนก็ไม่ต้องห่วงกับบริการโฮมสเตย์ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 คืน 2 วัน จนถึง 4 คืน 5 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและความสนใจของนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ศึกษาภูมิปัญญาการใช้ยาสมุนไพร, การอบสมุนไพร, ชมประเพณี วัฒนธรรม การแสดงลิเกไทใหญ่ หรือจ๊าดไต รำนก รำโต การทำกิจกรรมพัฒนา ชุมชนร่วมกับ โรงเรียน, วัด เป็นต้น
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถ สัมผัสการท่องเที่ยวของชุมชน ในกรณีที่มีการจัดประเพณีพิเศษในโอกาสต่างๆ เช่น ประเพณีบวชลูกแก้ว หรือ ปอยส่างลอง ซึ่งจะมีขึ้นทุกๆ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กที่มีอายุครบตามประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมีระยะอย่างน้อย 3-5 วัน