พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมทั้งติดตามการดำเนินโครงการปรับการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำ (โครงการบางระกำโมเดล 62) พร้อมสั่งการให้ผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือพื้นที่ที่เสี่ยงจะขาดแคลนน้ำด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมด
ล่าสุดพบว่า จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำต้นทุนในเขตการบริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และ จ.นครสวรรค์ มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำต้นทุนนอกเขตการบริการของ กปภ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการปรับการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำ หรือ บางระกำโมเดลนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำยมและแม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินการเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวข้าวให้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อจะได้ใช้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วรับน้ำหลากจากแม่น้ำ ตัดน้ำส่วนเกินออกจากลำน้ำ ทำให้น้ำไม่เอ่อท่วมพื้นที่เมือง ซึ่งการปลูกข้าวภายใต้โครงการดังกล่าว กรมชลประทานจะส่งน้ำให้เกษตรกรตามช่วงเวลา โดยมีทุ่งรับน้ำ 2 ส่วน สามารถรับน้ำหลากได้ 2,033 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น 1.พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก รวม 265,000 ไร่ โดยเริ่มการปลูกใน เม.ย. และเก็บเกี่ยวใน ส.ค. ซึ่งสามารถรับน้ำหลากได้ 500 ล้าน ลบ.ม. 2.พื้นที่ใต้ จ.นครสวรรค์ จำนวน 12 ทุ่ง รวม 1,149,898 ไร่ จะเริ่มการปลูกใน พ.ค. และเก็บเกี่ยวใน ก.ย. สามารถรับน้ำหลากได้ 1,533 ล้าน ลบ.ม.
“โครงการบางระกำโมเดลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมน้ำหลาก ช่วยลดความเสียหาย มีรายได้ที่แน่นอน และในช่วงที่มีน้ำอยู่ในทุ่ง สามารถประกอบอาชีพด้านประมง ทำให้มีรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การพักนาทำให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์อย่างดี ส่งผลให้การปลูกข้าวรอบต่อไป มีต้นทุนการผลิตลดลง เพราะใช้ปุ๋ยน้อยลง ลดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ได้ผลผลิตสูงขึ้น ที่สำคัญโครงการดังกล่าวยังช่วยป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย รัฐบาลจึงได้ขยายผลดำเนินโครงการต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3 ดังกล่าว" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ภัยแล้งภาพรวมในปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ประกาศภัยแล้งขณะนี้มีทั้งสิ้น 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ตราด และชลบุรี รวม 10 อำเภอ 35 ตำบล 252 หมู่บ้าน ขณะที่น้ำอุปโภค-บริโภค กปภ.สาขาที่เฝ้าระวังทั้งในเขตและนอกเขตบริการ พบว่า สาขาต่างๆ ยังสามารถส่งน้ำได้ตามปกติ ยกเว้นสาขาสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เริ่มมีการขาดแคลนน้ำ แต่ได้มีมาตรการให้สูบทอยน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียงมาเติม ช่วงวันที่ 10 มี.ค. - 31 พ.ค. และจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา ส่วนการปลูกพืชฤดูแล้ง ในเขตชลประทาน 32 จังหวัด ปลูกเกินแผน 1.18 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน ปลูกเกินแผน 0.133 ล้านไร่ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก นครพนม บุรีรัมย์ ยโสธร สุรินทร์ ปราจีนบุรี และพระนครศรีอยุธยา ได้มีการเจาะบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือ จากแผนทั้งหมด 1,897 แห่ง ดำเนินการแล้ว 530 แห่ง คิดเป็น 28% โดยเป็นแผนงานในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 737 แห่ง ดำเนินการแล้ว 226 แห่ง คิดเป็น 31%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกภาคของประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยปี 2557 - 2561 ในพื้นที่ภาคเหนือ มีการดำเนินโครงการทั้งหมด รวม 12,247 โครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการการขนาดเล็ก เช่น การจัดทำระบบประปาหมู่บ้าน การขุดลอกแหล่งน้ำ ลำน้ำ การก่อสร้างเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ การขุดสระน้ำในไร่นา การขุดบ่อบาดาล การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง และการป้องกันตลิ่งพังทลาย เป็นต้น ใช้งบประมาณรวม 60,648 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์ 4.84 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 825 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มแนวป้องกันตลิ่งได้ 89.57 กม. ส่วนในปี 2562 มีการดำเนินโครงการ ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 2,458 โครงการ งบประมาณรวม 14,182 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 270,065 ไร่ เพิ่มน้ำได้ 40.90 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงปี 2563 – 2565 รัฐบาลมีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการขนาดใหญ่และสำคัญ 8 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่นคง ได้แก่ 1.โครงการแผนหลักฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก เริ่มดำเนินการปี’63 โครงการแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เริ่มปี’63 โครงการผันน้ำยวม-ภูมิพล เริ่มปี’64 โครงการเขื่อนน้ำกิ จ.น่าน เริ่มปี’64 โครงการเขื่อนน้ำกอน จ.น่าน เริ่มปี’64 โครงการเขื่อนแม่คำมี จ.แพร่ เริ่มปี’64 โครงการเขื่อนแม่คำ จ.เชียงราย เริ่มปี’65 และโครงการผันน้ำกก-อิง-สิริกิติ์ เริ่มปี’65