ไทยพร้อมร่วมกับอาเซียนกำหนดแนวทางพัฒนาความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดน เพื่อป้องกันภัยคุกคามอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
วันนี้ (3 เมษายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาในการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน (High Level Regional Conference – Synchronizing Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025) ณ อาคารประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับภูมิภาคภายใต้หัวข้อ “การประสานแผนการค้าและความมั่นคงเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025” ประจำปี 2562 เพื่อหาแนวทางส่งเสริมบูรณาการ ระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติด้านความมั่นคง ที่สอดคล้องกับเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศอาเซียนที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ อาชญากรรมข้ามชาติในปัจจุบันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาค ตลอดจนความนิยมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ โดยหากไม่มีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่มีความซับซ้อน และส่งผลกระทบอย่างรอบด้าน และอย่างกว้างขวาง
โดยในปีนี้ อาเซียนจะเริ่มใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window - ASW) ซึ่งจะเชื่อมโยงระบบข้อมูลศุลกากรแบบบูรณาการ ลดขั้นตอนด้านศุลกากรระหว่างประเทศอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งจะทำให้การเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนมีความสมบูรณ์มากขึ้น
นอกจากนี้ อาเซียนมีแผนส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 อันจะส่งผลโดยอ้อมให้พื้นที่บริเวณชายแดนมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้แสวงหาประโยชน์ดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักดีถึงปัญหานี้ และได้ร่วมกันจัดทำเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2016 – 2025 กำหนดเป้าหมายในการสร้างประชาคมอาเซียนและมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางในการรับมือ ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
โดยไทยเห็นว่า อาเซียนควรร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะพัฒนากรอบความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่มาจากอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนเกิดการไหลเวียนของการค้า การลงทุน และประชาชนข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
ในปี 2562 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” มุ่งเสริมสร้างให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะความมั่นคงที่ยั่งยืนมีภูมิต้านทานต่อภัยคุกคามและอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติไม่สามารถจะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกประเทศในภูมิภาคจะต้องร่วมมือกันจึงจะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างรอบด้าน มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ อาเซียนจึงควรร่วมกันจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน เพื่อเป็นกลไกในการสร้างสมดุลระหว่างการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการเคลื่อนย้ายคน กับการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดน ทั้งนี้ แนวคิดของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนเป็นเรื่องที่อาเซียนได้ให้ความเห็นชอบแล้วในเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 ซึ่งการจัดตั้งกลไกดังกล่าวเป็นการแปลงเจตนารมณ์ของอาเซียนให้เป็นแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียน
นายกรัฐมนตรีหวังว่า ที่ประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ และนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ใน 3 ประเด็น คือ
1. การแลกเปลี่ยนข่าวสารและข่าวกรองระหว่าง UNODC และ กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันสกัดกั้นภัยคุกคามร้ายแรงที่บันทอนสังคมและประชาชนของพวกเรา และมีส่วนเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
2. ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและความท้าทายข้ามพรมแดนต่างๆ อย่างเป็นระบบ
3. การส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาค ลดต้นตอของปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติและส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมหุ้นส่วนในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SGDs Partnership)
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าที่ประชุมควรจะมีการหารือในกรอบการใช้กฎหมายและการเพิ่มขีดความสามารถเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมด้วย โดยไทยจะนำผลการประชุมในครั้งนี้ ไปขยายผลเพื่อเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติและการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (AMMTC) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ หากอาเซียนสามารถมีฉันทามติได้ในเรื่องนี้ก็จะนำเสนอต่อให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 พิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ต่อไปด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่า การประชุมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างกว้างขวาง และขยายผลพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต