ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เตือนเกษตรกรรับมือพายุฤดูร้อน! ป้องกันผลผลิตการเกษตรเสียหาย
04 เม.ย. 2562

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิด “พายุฤดูร้อน” ขึ้นในหลายพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสวนไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งน้ำท่วม ลมพายุ และภัยแล้งไว้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีผลไม้หลากหลายชนิดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก คือ ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลิ้นจี่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำวิธีการดูแลสวนไม้ผลในระยะก่อนและหลังการเกิดพายุฤดูร้อน เพื่อบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

ระยะก่อนการเกิดพายุฤดูร้อน 1.ขอให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ระวังผลผลิตที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวอาจได้รับความเสียหายได้ และระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ไว้ด้วย เนื่องจากบางช่วงอากาศจะแห้งมาก เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ 2.เกษตรกรควรปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก จะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้

3.ควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย 4.สำหรับสวนที่เริ่มให้ผลผลิต ควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหายที่อาจได้รับจากพายุ กรณีผลไม้บางชนิดที่อ่อน ไม่สมบูรณ์ รูปทรงไม่ปกติหรือมีขนาดเล็ก เช่น มะม่วง อาจเก็บไปจำหน่ายก่อนได้ เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง

ระยะหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน 1.สวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง 2.ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย 3.กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้น ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้ราก แตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย

4.หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วันต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้

สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...