เร่งสร้าง 'เมืองอัจฉริยะ' เตรียมผุดแพลตฟอร์มดาต้าสำหรับพัฒนาเมือง พร้อมขยายเมืองอัจฉริยะต่อ 24 จังหวัด 30 พื้นที่
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะนำประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเหลื่อมล้ำน้อย ความเจริญกระจายไปทั่วประเทศ และต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการ วาระเร่งด่วนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ ขณะที่ในกลุ่มเมืองเดิมที่ต้องปรับปรุงให้น่าอยู่ และอัจฉริยะมากขึ้น
กลุ่มเมืองใหม่ที่จะต้องออกแบบให้สมบูรณ์ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยประเทศไทยมีเป้าหมายเมืองอัจฉริยะคือ ในปีแรกที่ผ่านมา ได้นำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ไปแล้ว ปีที่ 2 (2562) จะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปี (2563 - 2565 ) จะขยายไปทั่วประเทศ 77 จังหวัด 100 พื้นที่
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนจะใช้บิ๊กดาต้าในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยทำ City Data Platform ในเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศเพื่อให้นักพัฒนานำข้อมูลเปิดของแต่ละเมืองไปใช้พัฒนาเมือง โดยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการใหม่ๆ ให้กับท้องถิ่น โดยจะได้เห็นแพลตฟอร์มดาต้าในเมืองอัจฉริยะภายในปีนี้ เพื่อเป้าหมายชัดเจนในการเดินไปข้างหน้าเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาทันสมัย โดยประชาชนมีความสุข รักษาวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ สมาร์ทซิตี้จะตอบโจทย์การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ โดยให้เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และสิ่งสำคัญคือการพัฒนาจะต้องเป็นการพัฒนาที่รักษาสิ่งแวดล้อม อากาศ แก้ปัญหาขยะและน้ำเสีย พัฒนาพื้นที่สีเขียว ทำให้เมืองมีความทันสมัย น่าอยู่ ประชาชนสุขภาพดี ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมดีและรักษาอัตตลักษณ์ไว้ได้
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการนำร่องใน 7 จังหวัดที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และขอแรงหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน สื่อมวลชนมาช่วยงานเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ตั้งแต่มิถุนายน-สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นซีรีส์ของกิจกรรมด้านเมืองอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยเครือข่ายเมืองอาเซียน 26 เมือง ร่วมกับเมืองอื่นทั่วโลก และเอกชนรายใหญ่ของโลกมาร่วมแสดงศักยภาพเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ตอบสนองเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่จะชู Smart City เป็นวาระเด่นรับการที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ รวมถึงไทยจะผลักดันเกณฑ์การเป็นเมืองอัจฉริยะ วิธีการและกระบวนการการทำงาน พร้อมคู่มือไปสู่อาเซียนในเวทีนี้ เพื่อใช้เป็นไกด์ไลน์ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอาเซียนต่อไป
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับกลไกการทำงานที่จะบรรลุเป้าหมายเกิดขึ้นจริง รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่รวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญ โดยมีกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเลขานุการร่วม เพื่อมาออกแบบกลไกขับเคลื่อน ผลักดันโครงการ รวมถึงติดตามความก้าวหน้าเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยใน 1-2 ปีแรกใช้กลไกนำร่องโดยหน่วยงานรัฐ เอกชนที่มีความพร้อมก่อน เช่นในพื้นที่ ภูเก็ต ขอนแก่น ศูนย์พหลฯของกรุงเทพ และอีอีซีส่วนเริ่มจากปีที่ 2 นี้จะใช้กลไกเปิดรับสมัครเมืองทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ 5 ข้อ คือ
1. ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน 2. ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง 3. ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองที่ปลอดภัย 4. ต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน และ 5. ต้องมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน และได้ประกาศเกณฑ์ดังกล่าวในวันนี้ พร้อมรับสมัครเมืองเดิม เมืองใหม่ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 ด้าน ซึ่งหากคณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ เมืองก็จะได้รับตราสัญลักษณ์ Smart City และสามารถไปขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอต่อไปได้