ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
การเจรจาสันติสุขเพื่อดับไฟชายแดนใต้ กับความสุ่มเสี่ยงต่อการยกระดับปัญหาสู่สากล หลัง“มารา ปาตานี”เข้าพบเลขาธิการโอไอซี
01 ก.พ. 2559

ความพยายามเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเจรจาสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยและผู้เห็นต่าง ซึ่งเรียกร้องที่จะได้มาซึ่งเอกราชปาตานี โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ซึ่งดำเนินการติดต่อกันมาแล้วหลายครั้ง  แต่จนถึงขณะนี้ ผลของการเจรจายังไม่สามารถบรรลุข้อตกสันติภาพ ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง 

หลังการพูดคุยสันติสุขที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558   “มารา ปาตานี” ( MARA PATANI : Majlis Amanah Rakyat Patani ) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐบาลไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (คณะผู้ก่อการใน BRN)  2. แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP) 3. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-P4) 4. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-dspp) 5. องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp) และ 6. ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (GMIP)

 ได้เปิดตัว แกนนำหลักของกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย นายอาวัง ยาบะ จากบีอาร์เอ็น เป็นประธาน มารา ปาตานี นายสุกรี ฮารี หรือ อุสตาซสุกรี จากบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของ มารา ปาตานี ดร.อารีฟ มุคตาร์ จากกลุ่มพูโลใหม่ (PULO MKT)  นายอาบูยาซิน อาบัส จากกลุ่มจีเอ็มไอพี  ฮัจยีมะห์มุต ชูโว จากบีอาร์เอ็น  นายอาบูฮาฟิส อัล ฮากิม จากบีไอพีพี และ นายอาบูอากรัม บินฮาซัน จากกลุ่มพูโลเก่า

พร้อมทั้งยังได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า ในโต๊ะเจรจาครั้งนั้น ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อทางการไทย 3 ข้อ คือ 1.กำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขต้องเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล  2.ให้ยอมรับองค์กร มารา ปาตานี ว่าไม่ใช่กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และเป็นองค์กรที่อยู่บนโต๊ะเจรจา  3.ให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของ มารา ปาตานี จำนวน 15 คน เพื่อให้สามารถเดินหน้าการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรม

โดยได้เปิดเผยอีกว่า ตัวแทนฝ่ายไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ เช่นกัน คือ 1.สร้างพื้นที่ปลอดภัย 2.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และ 3.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ออกมาแถลงในภายหลังว่า รัฐบาลไทยจะยังไม่ยอมรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ของมารา ปาตานี จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามารา ปาตานี เป็นกลุ่มตัวแทนของผู้เห็นต่างของทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้จริง

ต่อมาได้มีกระแสข่าวเปิดเผยอีกว่าในการเจรจาสันติภาพที่ตกเป็นข่าวนั้น เป็นการเจรจาในคณะทำงานชุดเล็ก ซึ่งหารือกันในประเด็นปลีกย่อย ต่างๆ เช่นการกำหนดกรอบการพูดคุยในครั้งต่อไป และการที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งต่อมามารา ปาตานีก็ได้ออกมายอมรับในภายหลังว่าไม่ได้พูดคุยในประเด็นนี้ แต่เป็นการพูดคุยอยู่ในขั้นตอนของการสร้างความไว้วางใจต่อกัน และเพื่อวางกรอบกว้างๆ ไว้สำหรับใช้ในการเจรจากันครั้งต่อไปเท่านั้น

  • “อักษรา” เผยขั้นตอนการพูดคุยมี 3 ระยะ เวลานี้อยู่ในระยะที่ 1

พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (The Peace Dialogue Panel) แถลงคำชี้แจงของ  พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า 2558 ต้อนรับปีใหม่ 2559 เกี่ยวกับทิศทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขดับไฟใต้ โดยแยกเป็นประเด็น การสร้างความไว้วางใจ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย และแนวโน้มสถานการณ์ปี 2559

เรื่องการสร้างความไว้วางใจนั้น ตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดกรอบเป้าหมายและทิศทางการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ไว้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสร้างความไว้วางใจ ระยะที่ 2 การลงสัตยาบัน ระยะที่ 3 การบรรลุฉันทามติของทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และจัดทำโรดแมพ

“งานระยะที่ 1 นั้นนับว่ายากที่สุดในการดำเนินกระบวนการพูดคุย เพราะจะเป็นการพูดคุยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างคณะพูดคุย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการคือ การให้ความเห็นชอบบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน และการให้ความเห็นชอบในการจำกัดความรุนแรงเป็นรายประเด็น ซึ่งที่ผ่านมาหัวข้อเหล่านี้ยังคงเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ กิจกรรมสำคัญของการพูดคุยในระยะนี้ คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนภายในประเทศ, การตรวจสอบและกำหนดตัวแทนที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย การรับฟังสภาพปัญหาและความคับข้องใจของกลุ่มผู้เห็นต่าง”

โดยได้จัดตั้ง “คณะทำงานทางเทคนิคร่วม” (Joint Technical Team) เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมฯ ซึ่งเสมือนเป็นกติกาของการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ขณะนี้ได้ดำเนินการประชุมหารือผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาหลายครั้ง หากเมื่อได้ร่างบันทึกข้อตกลงร่วมฯ แล้ว ผู้แทนคณะทำงานทางเทคนิคร่วมจึงจะนำผลไปรายงานขอความเห็นชอบต่อระดับนโยบายของแต่ละฝ่าย ส่วนการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เป็นชุดความคิด 1 ใน 3 ชุดความคิดของคณะพูดคุยฯ ที่เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการต่อไป

  • ตื่นข่าว“มารา ปาตานี” เข้าพบเลขาธิการOIC

ประเด็นเรื่องการเจรจาเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เงียบหายไประยะหนึ่ง จนกระทั้งมีข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายมะสุกรี ฮารี จากกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายมารา ปาตานี นายอาบูฮาฟิซ อัลฮากิม หรือ นายแพทย์ กามาลุดดิน ฮานาพี แกนนำกลุ่มบีไอพีพี  นายแพทย์ ซากี อับดุลเลาะห์ จากกลุ่มบีไอพีพี นายมุคตาร์ มูโน๊ะ หรือ นายแพทย์ อารีฟ มุคตาร์ จากกลุ่มพูโล-เอ็มเคพี (PULO-MKP) ที่มี นายกัสตูรี่ มาห์โกตา เป็นหัวหน้า และ นายอาหามะ บูละ หรือ มะ ชูโวจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะแกนนำของกลุ่มมารา ปาตานี ได้มีโอกาสเข้าพบกับ นายอิยาด อามีน มาดานิ (Iyad Ameen Madani) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (Organisation of the Islamic Cooperation  : OIC) ขณะปฏิบัติภารกิจในประเทศมาเลเซีย

และในการเข้าพบกับเลขาธิการโอไอซีครั้งนั้น ได้มีผู้แทนภาคประชาสังคมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในพื้นที่และมีสื่อประชาสัมพันธ์อยู่ในมือ กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ปัตตานี และเจ้าของโรงเรียนปอเนาะในจังหวัดนราธิวาส รวม 5 คน ร่วมเป็นคณะเดียวกันเพื่อเข้าพบกับเลขาธิการโอไอซีด้วย โดยได้บอกกล่าวและบรรยายถึงสภาพปัญหาชายแดนภาคใต้ รวมทั้งความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ และบทบาทของภาคประชาสังคมในพื้นที่ พร้อมกับได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อเลขาธิการโอไอซี  2 ข้อ คือ

                1.โอไอซี ควรสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านทางมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งจากรัฐบาลไทยและกลุ่มมารา ปาตานี

               2.โอไอซี ควรเพิ่มบทบาทในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ในมิติที่นอกเหนือไปจากกระบวนการพูดคุย หรือบนโต๊ะเจรจา โดยให้มุ่งทำงานทางวิชาการร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ได้เกิดปฏิกริยาความหวาดระแวงและไม่พอใจจากหลายฝ่าย ถึงกรณีที่ประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ประสานงาน เรื่องการเจรจาสันติภาพ เปิดโอกาสให้ เลขาธิการโอไอซี ได้พบปะเจรจากับกลุ่มมารา ปาตานี เนื่องจากโอไอซี เป็นองค์กรความร่วมมือของประเทศในกลุ่มมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและได้รับการยอมรับในวงกว้าง อาจจะมีผลในทางสากล อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาภายในของไทย กรณีเช่นนี้จึงเท่ากับว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการยกระดับปัญหาชายแดนใต้ ไปสู่ระดับสากล หากมีองค์กรภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

  • "อกนิษฐ์"ฝากถามถึงฝ่ายมาเลเซียและ OIC

พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตนายทหารที่เคยมีบทบาทด้านประสานงานชายแดนไทย-มาเลเซีย และเคยเป็นหนึ่งในทีมเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่าง กล่าวว่า เท่าที่ทราบประเทศเพื่อนบ้านของไทยเคยพากลุ่มมารา ปาตานี ไปพบโอไอซีมาแล้ว และให้มารา ปาตานี เสนอตัวเป็นผู้สังเกตการณ์การประชุมโอไอซี หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้กลุ่มมารา ปาตานี มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐไทยในโอไอซี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของชาติผู้สังเกตกาณ์ที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม ดังนั้นเมื่อเลขาธิการโอไอซีจะเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีข่าวว่าได้มีการประสานงานให้กลุ่มมารา ปาตานี เข้าพบเลขาธิการโอไอซีด้วย

“ผมห่วงบทบาทของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เราเชิญมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งในภาคใต้ เพราะบทบาทเช่นนี้ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก แต่กำลังแสดงบทบาทเป็นคนกลางการเจรจา และทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างยกสถานะเทียบเท่ารัฐบาลไทย คำถามก็คือเป็นการทำเกินหน้าที่หรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือเปล่า อีกทั้งเรื่องนี้ถ้าโอไอซียอม ก็เท่ากับยอมรับสถานะของกลุ่มมารา ปาตานี ว่าเทียบเท่ากับรัฐบาลไทย จึงอยากให้โอไอซีตระหนักตรงจุดนี้และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าตกลงจะคบกับรัฐบาลไทย หรือคบมารา ปาตานี พลเอกอกนิษฐ์ กล่าว

อดีตนายทหารซึ่งมีบทบาทสูงในการเจรจายุติปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในอดีต ซึ่งส่งผลดีทั้งกับประเทศไทยและมาเลเซีย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ จับตาการเล่นเกินบทบาท ผิดคิว ของมาเลเซีย และควรเร่งทำความเข้าใจกับโอไอซีโดยด่วน

“มาเลเซียคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งสู้รบกันมาหลายสิบปี แล้วกำลังจะนำ ‘มินดาเนาโมเดล’ มาใช้กับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งๆ ที่ใช้กันไม่ได้ เนื่องจากสภาพปัญหา สภาพสังคม และประวัติศาสตร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

พลเอกอกนิษฐ์ กล่าวด้วยว่า จากแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ กำลังเดินผิดทาง เล่นตามเกมมาเลเซียและมารา ปาตานี ฉะนั้นจึงเตรียมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเรื่องนี้ และสรุปเป็นรายงานเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

  • อดีตรองผอ.ข่าวกรองแห่งชาติ ตำหนิมาเลเซีย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้เขียนข้อความไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้แทนของโอไอซีได้เดินทางไปมาเลเซีย และได้ให้ผู้แทนของมารา ปาตานี เข้าพบหารือ โดยการประสานงานจัดการของทางการมาเลเซีย ข้อมูลของการเจรจาเท่าที่ทราบคือ

      1. ขอให้ยอมรับการมีอยู่ของขบวนการมารา ปาตานี

      2. มารา ปาตานี ขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากโอไอซี และ

      3.ในทางกลับกัน โอไอซี ขอให้ มารา ปาตานี ไม่สนับสนุนกลุ่มชีอะห์และขบวนการไอเอส

โดยส่วนตัวมีคำถามว่า มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย กำลังดำเนินการที่อาจถือได้ว่าก้าวก่ายกิจการภายในของไทย หากทางการมาเลเซียจะอ้างเหตุผลว่า พยายามช่วยเหลือไทย ก็ยังถือว่าเป็นการดำเนินการที่เกินกว่าสถานะผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กำลังก้าวล้ำเป็นคนกลาง จัดการงานนอกสั่งที่ไทยไม่ได้ร้องขอ

“กรณีเช่นนี้ ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายจะทำให้ทุกฝ่ายหวาดระแวงกันมากกว่า” อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุ

  • โคทม” ชี้ มารา ปาตานี พบโอไอซี เป็นเรื่องปกติ

รองศาสตราจารย์ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีเลขาธิการองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC เข้าพบตัวแทนกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นคู่เจรจากับรัฐไทย ในนามองค์กรร่วมของขบวนการเอกราชปาตานี โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่ยังไม่น่ากังวล เพราะมีการเข้าพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังถือเป็นเรื่องปกติที่องค์กรระหว่างประเทศ จะสามารถเข้ามาเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ

รองศาสตราจารย์ โคทม เห็นว่า การเข้ามาของ OIC ยังไม่ใช่การเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้สังเกตการณ์ อย่างที่ขบวนการเอกราชเคยมีข้อเรียกร้อง แต่หากในอนาคต ทั้งสองฝ่ายสามารถยกระดับการพูดคุยไปข้างหน้าได้ คู่เจรจาทั้งสองฝ่าย ก็อาจจะเชิญองค์กรระหว่างประเทศ อย่าง OIC หรือตัวแทนประเทศอื่นๆ มาสู่การเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือความคืบหน้าในกระบวนการพูดคุย จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันได้”

ทั้งนี้ ยังมองว่ากระบวนการพูดคุยในอนาคต ควรต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างแท้จริงมากขึ้น ส่วนฝ่ายรัฐไทยและขบวนการเอง ก็ไม่ควรปฏิเสธข้อเสนอของคู่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง แต่ควรยอมรับข้อเสนอมาพิจารณา เพื่อหาทางออกร่วมกัน

  • “โอไอซี” ชมไทยแก้ปัญหาไฟใต้ แนะใช้การเจรจา

ขณะที่ นายอิยาด อามีน มาดานี เลขาธิการ โอไอซี ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 59 ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 3 วัน โดยภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปว่า เลขาธิการโอไอซีได้แสดงความชื่นชมบทบาทของรัฐบาลไทยที่มีความพยายามและความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมให้คำแนะนำว่าควรใช้กลไกทางการเมืองและการเจรจา เพื่อหาข้อยุติ

ในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายว่า รัฐบาลดำเนินการ 2 แนวทางควบคู่กัน ได้แก่ 1.การส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และความปลอดภัย เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และ 2.ดำเนินกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายไทยและโอไอซียังได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาโรฮิงญา โดยเห็นพ้องกันว่าต้องให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ทางด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงข่าวกลุ่มมารา ปาตานี เข้าไปพบเลขาธิการโอไอซีขณะเยือนมาเลเซีย และขอให้เขามามีบทบาทในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับมารา ปาตานีว่า ตนไม่ได้ยินอย่างนี้ และไม่รู้ว่าใครพูด ซึ่งทางโอไอซีจะเป็นผู้สนับสนุนการพูดคุยเท่านั้น แต่จะไม่ได้เข้ามาร่วมเป็นตัวแทนในการเจรจา เพราะการพูดคุยจะต้องเริ่มจากภายในประเทศ

“เชื่อว่าการพูดคุยจากนี้ไปจะดีขึ้น เพราะหากไม่ดีขึ้นก็ไม่รู้จะพูดคุยไปทำไม ทั้งนี้หากสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น ทางรัฐบาลและทหารก็จะลดกำลังทหารให้น้อยลง” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวในที่สุด

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ เกิดขึ้นมายาวนาน ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก หากรัฐจะแก้ปัญหาด้วยการปราบปราม และการพัฒนา เพียงเท่านี้ คงไม่สามารถจะสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้  ตราบใดที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงมีอยู่ อีกทั้งขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรงของกลุ่มมุสลิมในสากล กำลังสยายปีกและหาแนวร่วมในภูมิภาคต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด

ดังนั้น ทางออกของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องฝากไว้กับผลของการเจรจา บนความจริงใจของทั้งสองฝ่าย  ไม่ใช่คิดกันคนละอย่าง มองกันคนละแบบ  หรือ“ได้คืบเอาศอก” เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ความสันติสุขอย่างยั่งยืนและแท้จริง ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

  • ชาญวิทยา ชัยกูล / บรรณาธิการบริหาร อปท.นิวส์

(*ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพจากสำนักข่าวอิสราและสำนักข่าวไทย)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...