นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับสื่อมวลชน” โดยกล่าวถึงความหมายสิทธิมนุษยชน บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส กลไกการทำงานของสหประชาชาติ รวมถึงสื่อมวลชนกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มุ่งเน้นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ทั้งนี้ ตอนท้ายได้กล่าวสรุปว่า สื่อมวลชนควรระมัดระวังการละเมิดสิทธิ ส่วนบุคคล และจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพ
นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของการละเมิดสิทธิโดยสื่อ ๓ ประการ กล่าวคือ ๑) ปัญหาในข่าวของสื่อมวลชน มักมีประเด็นการนำเสนอของสื่อมวลชนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวฆาตกรรมชาวต่างชาติที่เกาะเต่า โดยลงชื่อนามสกุล ภาพถ่ายพาสปอร์ต ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ๒) ปัญหาการนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวหรือเจ้าหน้าที่ ในรูปแบบที่ตัดสินไปแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างกระบวนการการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น ใช้คำว่าคนร้าย ผู้กระทำความผิด ๓) ปัญหาการรายงานข้อเท็จจริงข่าวอาชญากรรม ที่ไม่ควรเสริมปรุงแต่ง ปลุกเร้าอารมณ์ การไม่ตีตราเชิงลบทางสังคม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันต้องคำนึงถึงสิทธิที่จะถูกลืม ในกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผ่านทางสังคมออนไลน์ หากเมื่อมีคำพิพากษาว่ามิใช่ผู้ที่กระทำความผิด แต่ไม่สามารถลบข้อมูลดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงสาเหตุที่มีการนำเสนอข่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนว่า เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน และเป็นการสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนกับสื่อมวลชน รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะในการนำเสนอข่าวว่า สื่อมวลชนควรยึดตามกรอบวิชาชีพ กฎหมาย ละเว้นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ควรใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการนำเสนอภาพข่าว