นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหากับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ กรณีลงมติเห็นชอบ พระราชกำหนดกู้เงิน เพื่อวางระบบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยมิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้นสำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนว่า เรื่องกล่าวหาดังกล่าวเป็นกรณีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ร่วมกันลงมติและเห็นชอบในการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน โดยในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 50/2559 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 5-7/2555 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการตรา พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่ง และการตราพระราชกำหนดดังกล่าว เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า การตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ปรากฏว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กับพวก ได้ร่วมกันตราและเห็นชอบพระราชกำหนดดังกล่าวโดยไม่สุจริต หรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญ เรื่องกล่าวหาดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กับพวกผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับประเด็นเรื่องกล่าวหาการกู้เงินเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ประเด็น การดำเนินโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 57 วรรคสอง มาตรา 67 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประเด็นการกำหนดรายละเอียดขอบเขตของงาน (TOR) ในโครงการดังกล่าว มีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงปัจจุบันอยู่ระหว่าง การไต่สวนข้อเท็จจริง