ปชป.เคาะ เลือก หน.พรรคใหม่ 15 พ.ค. เพิ่ม ผู้สมัครส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ 25 คน ร่วมเป็นโหวตเตอร์ ส่วนร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล รอ กก.บห.-ส.ส.ใหม่ตัดสิน ย้ำ พิจารณาทุกปัจจัย รวมการประกาศจุดยืนการเมืองช่วงหาเสียงด้วย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงหลังการประชุมรักษาการกรรมการบริหารพรรคว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธาน คือกำหนดให้จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมกาบริหารพรรคชุดใหม่ 15 พ.ค. เวลา 9 นาฬิกา โดยการเลือกครั้งนี้มีมติงดเว้นการทำไพรมารี เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานการณ์ โดยวิธีการในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคนั้นให้เสนอชื่อในที่ประชุมวันที่ 15 พ.ค.และให้ผู้ประสงค์รับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาที รวมถึงตั้งอนุกรรมการสามชุดดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คือ อนุกรรมการจัดการประชุมใหญ่ อนุกรรมการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อนุกรรมการกำกับวินิจฉัยประกาศผลเลือกตั้ง มอบหมายให้เลขาธิการพรรคดำเนินการ
ส่วนองค์ประชุมใหญ่ที่จะมีสิทธิลงคะแนนเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีทั้งหมด 307 คน ประกอบด้วย 19 กลุ่มตามข้อบังคับพรรค แบ่งเป็นสองส่วน 1 ส.ส.ชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาแต่ต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการของกกต.ก่อน โดยส.ส.ใหม่จะมีน้ำหนักร้อยละ 70 เมื่อนำมาคำนวณคะแนนเลือกตั้ง 2 กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า อดีตส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค กลุ่มหัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด กลุ่มตัวแทนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งชุดล่าสุด ประกอบด้วย ตัวแทนผู้สมัครบัญชีรายชื่อ 7 คน ตัวแทนผู้สมัครส.ส.เขต 18 คน ซึ่งมีรายชื่อครบแล้ว โดยทั้งหมดจะเป็นองค์ประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ส่วนอื่น ๆ ยังเป็นไปตามข้อบังคับพรรค มีรองหัวหน้าพรรคจากสองส่วน คือ รองหัวหน้าพรรคภารกิจ 8 คน รองหัวหน้าภาค 5 ภาครวม 13 คน
ทั้งนี้ในการประชุมใหญ่วันที่ 15 พฤษภาคม จะดำเนินการเฉพาะการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งชุดใหม่เท่านั้น ยังไม่มีการตัดสินใจทางการเมืองเกี่ยวกับการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล โดยในส่วนนี้จะเป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และส.ส.ใหม่เป็นผู้พิจารณา ซึ่งหลังจากที่ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ก็จะมีการประชุมส.ส.พรรค หากมีกรณีที่ต้องตัดสินใจทางการเมืองจะต้องประชุมร่วมกับกรรมการบริหารพรรค ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดเวลาได้เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ในขณะนั้น ทั้งนี้แม้ว่าพรรคจะมีแนวคิดทางการเมืองเกี่ยวกับการร่วมรัฐบาลออกเป็นสองแนวทางก็ถือเป็นเรื่องปกติของความแตกต่างทางความคิด เพราะในระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่สุดท้ายพรรคมีกลไกตัดสินคือที่ประชุมร่วมส.ส.และกรรมการบริหารพรรคมีมติอย่างไรเชื่อว่าสมาชิกจะยอมรับมตินั้น โดยไม่คิดว่าจะมีการแหกคอกเหมือนที่มีการวิเคราะห์ในขณะนี้ จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงมาตรการในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยการตัดสินใจทางการเมืองจะต้องพิจารณาทุกปัจจัย รวมถึงกรณีที่พรรคเคยประกาศจุดยืนทางการเมืองในการหาเสียงที่ผ่านมาด้วย