คมนาคมไม่ละความพยายามตั้งโรงงานผลิตรถไฟ-รถไฟฟ้าในเมืองไทย มั่นใจ ปี 2563-2564 ผุดได้ 3 โรงงาน ยอดการผลิต 900 ตู้ต่อปี พร้อมอุปกรณ์อะไหล่อีกเพียบ เชื่อหลังการจัดตั้งแล้วเสร็จส่งผลให้ไทยยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน RAIL Asia Expo 2019 เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตยังมีแผนที่จะสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) ได้ โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและซ่อมบำรุง
นายไพรินทร์ ยังได้ย้ำความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะฉะนั้นสามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ตามนโยบายเดิมได้ตามปกติ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟและรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนจะให้ความสำคัญและเดินหน้าโครงการเหล่านี้
ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดตั้งโรงงานฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 -2564 โดยจะสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ และรถไฟฟ้าได้ถึง 3 โรงงาน โดยมียอดการผลิตรวม 900 ตู้ต่อปีภายในปี 2570 และสามารถช่วยลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่า 10 เท่า จากเดิมที่มีมูลค่านำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อมีโรงงานผลิตและประกอบในไทย ต้นทุนจะลดเหลือเพียง 6-7 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาได้อีกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมยังช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-10,000 รายการ รวมถึงจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียนด้วย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คนไทยได้มีความรู้ในการผลิต เพิ่มการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมประกอบผลิตตัวรถได้อีกไม่น้อยกว่า 500 คน
นายไพรินทร์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตไทยจะขยายโครงข่ายรถไฟไปเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมศักยภาพการเป็นฮับCLMV โดยในอีกไม่กี่ปีไทยจะเชื่อมรถไฟทางคู่และรถไฟไฮสปีดกับ สปป.ลาว เช่นเดียวกับทางกัมพูชาที่จะมีการเปิดเดินรถข้ามประเทศเส้นทางไทย-กัมพูชา ช่วงจ.ตราด-เสียมราฐ-พระตะบอง ส่วนด้านรถไฟทางเชื่อมต่อประเทศเมียนมานั้นจะต้องเจรจาให้สามารถเดินรถเชื่อมกันได้อีกครั้งเหมือนในอดีต
ด้านนายยรรยง นิติสาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสทีไอที จำกัด (STIT) บริษัทในเครือ ซิโน-ไทย กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่มีมูลค่ามหาศาล เพื่อพัฒนาระบบคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ กระตุ้นภาคเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศนั้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุปกรณ์สำหรับก่อสร้างและเครื่องจักรหนัก มีอัตราการเติบโตขึ้นตามไปด้วย รวมถึงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 2562 ที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลากหลาย เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
“อุตสาหกรรมหลายอย่างเติบโตขึ้น หลังได้รับอานิสงค์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ยกตัวเอย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการเมืองการบินจากการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ในปัจจุบัน งานก่อสร้างภาครัฐและงานก่อสร้างภาคเอกชนในประเทศของเรา ยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานอย่างสูง ดังนั้นเครื่องจักรที่ดี ก็มีส่วนทำให้งานเดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จในการทำงานได้อย่างดีเยี่ยม” นายยรรยง กล่าว