นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สำหรับปีงบประมาณ 2562 กฟผ.มีแผนลงทุน 50,000 ล้านบาท โดยมีการเร่งเบิกจ่ายให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยงบฯ มีทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกง /พระนครใต้ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าวังน้อยหน่วยที่ 4 ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant ) เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่จะสามารถเร่งการผลิตเครื่องได้อย่างรวดเร็ว การลดระยะเวลาซ่อมบำรุง โดยโครงการความยืดหยุ่นโรงไฟฟ้าวังน้อยจะเปิดให้เอกชนยื่นรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ลงทุนประมาณ 164 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จปี 2563 จะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี จากนั้นจะมีการขยายการดำเนินงานสู่โรงไฟฟ้าอื่นต่อไป
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้จากที่ภาวะอากาศร้อน ทำให้คาดว่าจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak ) หรือพีคของระบบ กฟผ. จะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ จากที่ล่าสุดพีคเกิดขึ้นวันที่ 24 เมษายน 2562 อยู่ที่ 30,120 เมกะวัตต์ โดยพีคระยะหลังปรับเปลี่ยนจากช่วงกลางวันมาเป็นกลางคืน สาเหตุหลักมาจากปัจจัยการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)เข้าระบบมากขึ้นทำความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบลดน้อยลง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการตัดพีคในช่วงกลางวัน ประกอบกับอากาศร้อนมากขึ้นการใช้ไฟฟ้าเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงกลางคืนก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้บิลค่าไฟฟ้าในช่วง 1-2 เดือนนี้ของประชาชนพุ่งสูงขึ้น
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งทำให้เขื่อนในภาคอีสานโดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนสิรินธรอยู่ในภาวะวิกฤติบางช่วงเวลาเขื่อนไม่ได้ปล่อยน้ำ ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ โดยน้ำน้อยจะไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด เพราะสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในไทยมีสัดส่วนต่ำมาก