IRPC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 สานต่อกลยุทธ์ GDP ด้วยการ บูรณาการระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอนธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร ตั้งเป้าช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในปี 2562 ได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท (ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ) ส่วนผลประกอบการภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 สาเหตุหลักจาก กำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราการกลั่นน้ำมันลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน RDCC
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 54,274 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 เนื่องจากราคาขายปรับตัวลดลงร้อยละ 11 ตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณขายปรับตัวลดลงร้อยละ 5 เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง จากการที่โรงงาน RDCC ปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 28 วัน เพื่อติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการทำงานของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (โครงการ Catalyst Cooler) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงกลั่นให้สามารถเลือกกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายประเภท
ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,958 ล้านบาท (8.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 44 สาเหตุหลักเกิดจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากภาวะอุปทานล้นตลาด ประกอบกับความต้องการสินค้าลดลงโดยเฉพาะจากประเทศจีน เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิจำนวน 720 ล้านบาท ทำให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) อยู่ที่ 5,678 ล้านบาท (9.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 2,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,821 ล้านบาท สำหรับต้นทุนทางการเงินสุทธิมีจำนวน 387 ล้านบาท ลดลง 431 ล้านบาท เนื่องจากการบันทึกกำไรจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินต้นและดอกเบี้ย (Cross Currency Swap หรือ CCS) จำนวน 83 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่กำไรจากการด้อยค่าและจำหน่ายทรัพย์สินลดลง 258 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสที่แล้วมีรายการที่ไม่เกิดขึ้นประจำ (non-recurring) จากการขายที่ดิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 153 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 109 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1,627 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561: ในไตรมาส 1/2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายลดลง 6,214 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 เป็นผลจากทั้งราคาขายและปริมาณขายปรับตัวลดลง ร้อยละ 6 และร้อยละ 4 ตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงอย่างมาก เป็นผลจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบปรับตัวลดลง และอัตราการกลั่นน้ำมันลดลงร้อยละ 6 จากการที่โรงงาน RDCC หยุดผลิตเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตามโครงการ Catalyst Cooler บริษัทฯ มี Market GIM ลดลง 3,611 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 42 Accounting GIM ลดลง 3,095 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 35 แม้กำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิเพิ่มขึ้น 516 ล้านบาท ก็ตาม โดยมี EBITDA ลดลง 3,034 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินลดลง 85 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท ขณะที่กำไรจากการลงทุนลดลง 87 ล้านบาท
ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมปรับตัวลดลง ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 153 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 94 จากไตรมาส 1 ปี 2561
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี อัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 0.96 เท่า และอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (net D/E) อยู่ที่ระดับ 0.66 เท่า โดยมีนโยบายควบคุม net D/E ไม่เกิน 1 เท่า และมีการติดตามการบริหารความเสี่ยงทั้งในด้านการปฏิบัติการและด้านการเงินอย่างใกล้ชิด
โครงการ Catalyst Cooler ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเลือกใช้น้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดมากขึ้นและผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำไรขั้นต้นจากการผลิต (GIM) ของ IRPC ประมาณ 0.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ประมาณ 600 ล้านบาท) ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นตามแผนงานที่วางไว้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทรปี 2563 คือ "IMO” มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงเติมเรือ (น้ำมันเตา) ให้ไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน โดยจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อบริษัทฯ เนื่องจาก IRPC ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตน้ำมันเตาที่มีส่วนผสมของกำมะถันระดับ 0.5%
นายนพดล กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังคงดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ GDP (Power of Growth, Power of Digital และ Power of People) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นการดำเนินการด้าน Power of Digital หรือ IRPC 4.0 ด้วยการ บูรณาการระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขั้นตอนธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วองค์กร ได้แก่ 1. ระบบการควบคุมและวางแผนการผลิตด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่วัดผลได้แบบ real-time 2. ระบบการบริหารจัดการ Supply Chain 3. ระบบ Big Data วิเคราะห์ความต้องการของตลาด 4. ระบบ Lean Procurement เพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนจัดซื้อจัดจ้าง และ 5. การจัดการข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ขององค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งปีให้กับองค์กรได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท (ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ)
“ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและภาคธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โครงการ “IRPC 4.0” จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่จะช่วยยกระดับบริษัทฯ ให้พร้อมแข่งขันในเวทีสากลโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน"