ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
เอ็นไอเอ เตรียมรุกนำนวัตกรรมไขปัญหาเหลื่อมล้ำนำร่อง 6 หมู่บ้าน
21 พ.ค. 2562

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วยการใช้กลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) โดยมุ่งเชื่อมโยงให้นักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ ฯลฯ นำผลงานวิจัย และไอเดียต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับปัญหาทางสังคม สำหรับ ในปี 2562 ยังมีความตั้งใจในพัฒนาคุณภาพชีวิต และพื้นที่ระดับหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น จึงริเริ่มโครงการ หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ” เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ - ความยากจนในระดับที่เล็กลง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท พร้อมเตรียมยกระดับเพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังมีการเผยว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนปรับตัวลดลงจาก 13.1 ล้านคนเหลือ 5.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้ความยากจนจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา สวัสดิการทางสังคม และคุณภาพของระบบสาธารณสุข

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นจุดเปราะบางและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ทั้งโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของประชากร การกระจายรายได้ การพัฒนาความสามารถกำลังคนให้สอดคล้องกับสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และยกระดับสถานะไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ในระยะเวลาที่ควรจะเป็น

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา NIA มีความมุ่งมั่นในการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปใช้ในระดับพื้นที่ โดยมีกลไกการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) เป็นตัวเชื่อมโยงนักวิจัย อาจารย์ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจเพื่อสังคม ให้เกิดการนำต้นแบบความคิด ผลงานวิจัย และไอเดียต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับปัญหาทางสังคมหลากหลายด้าน เช่น การจัดการภัยพิบัติ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม  การจัดการพลังงาน การจ้างงานและสวัสดิการสังคม ฯลฯ ซึ่งได้ร่วมกับผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ พัฒนาโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 115 โครงการ ภายใต้การให้ทุนสนับสนุน 116 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและการลงทุนเพิ่มขึ้น 759 ล้านบาท ตัวอย่างโครงการ อาทิ TrainKru : การฝึกอบรมและพัฒนาครูด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา และการเข้าถึงเทคโนโลยีการสอนสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกล Pannana : โปรแกรมช่วยแปลภาษาและการอธิบายภาพสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น บั๊ดดี้ โฮมแคร์ : ระบบดูแลผู้สูงอายุ โดยเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น

สำหรับ ในปี 2562 NIA ยังมีความตั้งใจในพัฒนาคุณภาพชีวิต และพื้นที่ระดับหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการ หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม : Social Innovation Village” เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ - ความยากจนในระดับที่เล็กลง รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มที่ตรงกับความต้องการของคนในแต่ละชุมชน โดยในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ส่วนในระยะที่ 2 กำลังเปิดรับผลงานนวัตกรรมอีก 3 พื้นที่ คือ

·        ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในหัวข้อนวัตกรรมการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน นวัตกรรมการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม นวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ และนวัตกรรมพลังงานทดแทน

·        ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ในหัวข้อ นวัตกรรมการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน นวัตกรรมการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และนวัตกรรมพลังงานทดแทน

·        ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ในหัวข้อ นวัตกรรมแปรรูปกาแฟ นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ และนวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม ซึ่งได้เปิดรับข้อเสนอนวัตกรรมตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 โดยผลงานนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนสูงสุดโครงการละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นผลงานนวัตกรรมแก้จน และจะนำไปใช้จริงในพื้นที่เป้าหมายต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางSocial.nia.or.th              

ด้าน นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า แม้ไทยจะยังเผชิญกับสภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ก็พบว่าแนวโน้มความยากจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนต่อประชากรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ซึ่งลดลงจาก 13.1 ล้านคนเหลือ 5.3 ล้านคน โดยสัดส่วนคนจนค่อยๆปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค แต่จังหวัดที่ยังเผชิญกับปัญหาความยากจนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน กาฬสินธ์ นครพนม ตาก ชัยนาท บุรีรัมย์ สระแก้ว และพัทลุง โดยความยากจนยังคงกระจุกตัวในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาความยากจนจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับไม่ได้ลดลงในระดับที่น่าพึงพอใจนัก โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่อยู่ในด้านการศึกษา สวัสดิการทางสังคม และคุณภาพของระบบสาธารณสุข โดยในส่วนของการศึกษา สิ่งที่เป็นอุปสรรคและถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ผลลัพธ์ทางการเรียนการสอนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานและการประกอบอาชีพของแต่ละพื้นที่ที่ยังมีความแตกต่างกัน รวมถึง การเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นจากขั้นพื้นฐาน ที่คนรวยมักจะมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดีมากกว่าคนจน ส่วนทางด้านสวัสดิการทางสังคม ปัญหาที่พบคือ ความครอบคลุมของสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เด็ก และสตรี และอุปสรรคที่พบในด้านคุณภาพของระบบสาธารณสุขคือ ความรวดเร็วและจำนวนที่เพียงพอของสถานที่กับจำนวนผู้ใช้บริการ และมาตรฐานในการให้บริการที่ยังคงมีความแตกต่างกันทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...