นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งภาพรวมวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 4.03 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 2.19 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และสต็อกน้ำมันปาล์มยังมีค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และถูกแข่งขันจากน้ำมันถั่วเหลือง โดยภาครัฐ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพื่อยกระดับราคา นำน้ำมันปาล์มส่วนเกินไปผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในกลุ่มรถบรรทุกด้วยการอุดหนุนราคาต่ำกว่าดีเซลปกติ (บี 7) และผลักดันการใช้บี 10 เป็นพลังงานทางเลือก
มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมาก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการตามแนวทางบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง ปี 2561/62 ทั้งระบบ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลัง และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลง เนื่องจากสต็อกกุ้งยังมีมาก ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อ ประกอบกับภาวะการค้าภายในประเทศทรงตัว ซึ่งจากผลการประชุมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยครั้งที่ 3/2562 มีแผนขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาด EU และจีน โดยเน้นคัดเลือกกุ้งที่มีคุณภาพจากสหกรณ์การเกษตรที่ได้มาตรฐานห้องเย็นตรงกับเงื่อนไข รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรณรงค์ให้ความรู้เกษตรกรในเครือข่ายให้ผลิตกุ้งที่มีคุณภาพปลอดสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น
ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคม 2562 ได้แก่ สับปะรด ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกมีความต้องการมาก และสุกร ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดภายในประเทศยังคงมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ผลิตสามารถป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้น