นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหา รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้บูรณาการแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด (รวม กทม.) และจัดทำเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้นำแนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) มาส่งเสริมการดำเนินงานชุมชนปลอดขยะ สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน ในการดำเนินงานจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร จัดการขยะที่ต้นทาง ตั้งแต่ปี 2552 โดยใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อให้เกิดการใช้น้อย มีการใช้ซ้ำ หมุนเวียนใช้ใหม่ ก่อนทิ้ง และ การนำไปแปรรูปเพื่อมาใช้ใหม่ ตลอดจน มีการขยายผลและสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็น "ชุมชนต้นแบบ" ในการดำเนินการป้องกันจัดการขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ " ในชุมชนขึ้น จำนวน 19 แห่ง โดยปีนี้ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ระดับชุมชน เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ที่ จ.บุรีรัมย์ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ ชุมชนบ้านสวัสดี และ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ชุมชนหมู่ที่ 4 โนนดินแดง และที่ จ. อุบลราชธานี 1 แห่ง คือ ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ชุมชนบ้านหนองวิไล ซึ่งทั้งหมดเป็นชุมชนปลอดขยะที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ เมื่อปี 2561
สำหรับ ชุมชนบ้านหนองวิไล ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประเภทชุมชนปลอดขยะ ชุมชนขนาดกลาง ประจำปี 2561 การดำเนินกิจกรรมของชุมชนเริ่มจากกิจกรรมถนนปลอดถังขยะ ในปี 2559 ที่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นชุมชนปลอดถังขยะ 100% นอกจากนี้ การทิ้งขยะของชุมชนจะเป็นการนัดวันทิ้ง โดยแต่ละครัวเรือนจะทำการรวบรวมใส่ถุงดำและรอวันที่รถเก็บขนขยะของเทศบาลเข้าจัดเก็บ 2 วัน/สัปดาห์
กิจกรรมที่โดดเด่น คือ การคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับธนาคารขยะของชุมชน มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 6,118 บาท และนำมาเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิก เช่น สวัสดิการตอนเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ไม่น้อยกว่า 2 ราย/ปี รวมทั้ง ชุมชนมีการจัดทำเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการนำเข้าขยะในชุมชน ตลอดจนชุมชนมีจิตอาสาในการร่วมกันคัดแยกขยะรีไซเคิลภายในครัวเรือนและวัด อย่างชัดเจน โดยมีป้ายแสดงสัญลักษณ์การเข้าร่วมกิจกรรมติดไว้บริเวณหน้าบ้าน เพื่อแสดงการเข้าร่วมกิจกรรมครัวเรือนปลอดขยะ และทุกครัวเรือนจะมีการคัดแยกขยะรีไซเคิลและปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริเวณบ้านเรือนของตนเอง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมดำเนินกิจกรรม โดยจะปั่นจักรยานทุกวันอาทิตย์ เพื่อคอยตรวจสอบความสะอาดเรียบร้อยบริเวณถนนโดยรอบของชุมชน และทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนจะเข้าร่วมกิจกรรมถนนสายบุญ โดยจะให้ผู้ที่ตักบาตรนำขยะรีไซเคิลมาบริจาคให้กับกลุ่มเยาวชน ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลจะนำไปใช้ ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้กับวัดหนองวิไลและชุมชนต่อไป