สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็น “เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. โดยผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.nationalhealth.or.th และต้องยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน พ.ศ.2562 เท่านั้น
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการฯ ในฐานะอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ เป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกำหนดกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ ส่วนของสำนักงานนั้น มีคณะกรรมการบริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้กำกับดูแล เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงเปรียบได้กับผู้กุมบังเหียนการทำงานตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และทิศทางนโยบายของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้ประสบผลสำเร็จ
สำหรับเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะมีบทบาทหน้าที่ใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.เป็นหัวหน้าทีมเลขานุการของบอร์ดหลักทั้ง 2 บอร์ด ทำหน้าที่นำเสนอข้อเสนอนโยบายสาธารณะหรือเรื่องอื่นใดๆ เข้าสู่การพิจารณาในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกระบวนการทำงานของภาคีเครือข่ายเพื่อให้ได้มา ซึ่งผลผลิตที่เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
2.วางทิศทางและกำหนดธงเป้าหมายของสำนักงานฯ เนื่องจากภารกิจของ สช. มีความกว้างขวางครอบคลุมทั้ง 4 มิติของสุขภาพ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในทุกภารกิจหน้าที่ที่เชื่อมร้อยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับชาติ พื้นที่และประเด็นเฉพาะด้านสุขภาพที่สำคัญ บรรลุเป้าประสงค์สูงสุดคือเกิดรูปธรรมของการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะประชาชน ตามที่กำหนดไว้
3. กำหนดนโยบาย ประสานเชื่อมร้อย และต้องเป็นผู้ปฏิบัติในบางครั้ง เพราะการมีส่วนร่วมคือหัวใจสำคัญในการทำงานของ สช. ดังนั้น เลขาธิการฯ จึงเป็นแม่ทัพขององค์กร เพื่อสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เชื่อมร้อยผู้คนที่อาจมีความแตกต่างและหลากหลายเข้ามาร่วมงานกัน
4. สนับสนุนและบริหารจัดการสำนักงานฯ ที่อยู่บนเงื่อนไข “องค์กรจิ๋วแต่แจ๋ว” ให้ทำงานเสริมหนุนร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ อย่างถูกต้องกฎกติกา ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นองค์กรธรรมาภิบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้
5. ปฏิบัติภารกิจอื่นที่นอกเหนือจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่อาจได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เช่น ที่ผ่านมา สช. ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีร่วมกับสำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนำแนวคิด และเครื่องมือ กลไกภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ไปสนับสนุน
นางอรพรรณ กล่าวต่อไปว่า “เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปรียบได้กับผู้แทนที่เป็นภาพลักษณ์องค์กรที่จะแสดงต่อสาธารณะว่า สช. มีวิธีคิดหรือจุดยืนต่อประเด็นหนึ่งประเด็นใดอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีที่เป็นข้อห่วงใยด้านสุขภาพ เลขาธิการฯ จึงต้องมีความกล้าในการแสดงจุดยืนขององค์กรออกไป โดยผ่านการคิดวิเคราะห์ด้วยข้อมูลทางวิชาการและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนแล้วด้วย”
ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรด้านสุขภาพ แต่ต้องมีความเข้าใจในตรรกะของสุขภาพใน 4 มิติ มองภาพรวมเชิงระบบออก มีความเป็นผู้นำในการบริหารองค์กรยุคใหม่ที่ และสามารถสื่อสารต่อสังคมได้ชัดเจน
“ช่วงที่เลขาธิการฯ คนใหม่จะเข้าสู่ตำแหน่งนั้นเป็นห้วงเวลาที่กำลังก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะบอร์ดหลักทั้งสองชุดคือ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารฯ กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งลงในปลายปี 2562 นี้ ขณะเดียวกันแผนงานหลักของ สช. ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ของ สช. ก็กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2564 จึงเป็นความท้าทายที่เป็นโอกาสสำคัญ ที่ผู้นำองค์กรคนใหม่จะได้ออกแบบวิธีคิด ทิศทางและเป้าหมายการทำงานใหม่ ตามภารกิจภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550”
ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ คณะกรรมการบริหาร สช. (คบ.) จะเป็นผู้ดำเนินการโดยพิจารณาใบสมัครและความครบถ้วนของเอกสารเพื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ หรือวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการบริหาร สช. กำหนด ซึ่ง คบ.กำหนดวันสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ไว้ใน วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2562 โดยคาดว่าจะสามารถสรุปและประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกภายในเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่ง คบ.จะต้องนำเสนอรายชื่อดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนเสนอประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติลงนามแต่งตั้งต่อไป