รมว.เกษตรฯโชว์ผลงานปฏิรูปภาคเกษตรสำเร็จ
เมื่อเร็วๆนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเปิดงาน “ตลาดไท ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” ณ ตลาดไท อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีว่า ปีนี้ผลผลิตทุเรียนไทยได้ราคาดี เพราะตลาดต่างประเทศยังต้องการทุเรียนไทยจำนวน มาก ประกอบกับประเทศต่างๆที่เริ่มปลูกทุเรียนประสบความแห้งแล้งผลผลิตในต่างประเทศจึงยังน้อยอยู่ทำให้ทุเรียนไทยโชคดี ราคาดีกว่าปีก่อนๆ
"ปีนี้ผลผลิตทุเรียนมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว หากรวมผลผลิตในภาคตะวันออกและภาคใต้ อาจมีปริมาณถึง 9 แสนตัน จากเดิม 5 แสนตัน โดยมีราคาขายประมาณ 100-130 บาท/กิโลกรัม และในตลาดต่างประเทศที่เริ่มปลูกทุเรียนประสบกับภาวะแห้งแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยด้วย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ ประมาทไม่ได้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลการตลาดจริงๆ ว่า ปริมาณความต้องการทุเรียนควรมีเท่าไหร่เพื่อจะได้กำหนดจำนวน พื้นที่ปลูกทุเรียนให้พอดีกับความต้องการของตลาดเพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนล้นตลาดเหมือนยางพาราที่ราคาตก เพราะในปัจจุบันที่ปลูกยางกันไปทั่วประเทศไม่มีการวางแผนว่า ควรปลูกยางเท่าไหร่ หรือควรปลูกยางพาราพื้นที่ไหนบ้าง ดังนั้น ขอเชิญชวนให้ผู้บริหารตลาดไททดลองใช้ “โมเดลการตลาดนำการผลิต” คือ ขอให้ตลาดไท ช่วยกำหนดได้หรือไม่ว่าในปีหนึ่งๆ ตลาดไทยต้องพืชผัก/ผลไม้แต่ละชนิดจำนวนเท่าไหร่ และต้องการลักษณะแบบไหน แล้วมาจับคู่กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักนั้นๆเพื่อทำสัญญารับซื้อผลผลิตของเกษตรกรผ่านกลุ่มเกษตรกรโดยตรงหรือผ่านกรมส่งเสริมการเกษตรหรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อทำสัญญารับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงเหมือนโครงการข้าวอาหารสัตว์หลังฤดูทำนาที่กระทรวงเกษตรฯได้ติดต่อสมาคมผู้ค้าอาหารสัตว์ก่อนขอทราบว่าแต่ละปีตลาดอาหารสัตว์ต้องการข้าวโพดกี่ตัน
หลังจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงไปแนะนำให้ชาวนาลดการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์แทนการทำนาปรังซึ่ง กษ.ประสบความสำเร็จมาแล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงโครสร้างการผลิตทางการเกษตรของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
“ขณะนี้ชื่อกระทรวงเกษตรฯ จะหอมหวนมากยิ่งกว่ากลิ่นทุเรียนในตลาดไท แต่ใครก็ตามที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือดูแล กระทรวงเกษตรฯก็ควรนำเรื่องการปรับโครงสร้างวิธีการเกษตรกรรมรูปแบบนี้ไปพิจารณาด้วย”นายกฤษฎา กล่าว
เมื่อถามว่า สรุปแล้วการปรับโครงสร้างการเกษตรกรรมไทยควรทำอย่างไรบ้าง นายกฤษฎา กล่าวว่า การปลูกหรือการทำเกษตรกรรมจะต้องรู้ปริมาณความต้องการของตลาดก่อนแล้วนำมาคำนวณเป็นจำนวนการปลูก/การผลิตทางการเกษตรกรรมใช้ความรู้ทางไอทีใหม่ๆมาใช้ในการทำเกษตรกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิตและควรจะรวมกลุ้มกันทำเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ไม่แยกกันทำเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยเพราะขาดแรงงานต้นทุนจะสูงควรปลูกพืชหรือทำเกษตรกรรมผสมผสานหรือปลูกพืชแซมสวนจะได้ลดความเสี่ยงเมื่อพืชหลักราคาตกต่ำควรเน้นการทำเกษตรกรรมที่ตลาดมีแนวโน้มต้่องการมากขึ้นราคาดีเช่นเกษตรอินทรีย์/เกษตรปลอดภัย(GAP) กล่าวสรุปคือ ประเทศไทยต้องทำการเกษตรแบบมีแผนการผลิตตามความต้องการของตลาดไม่ทำเกษตรกรรมปล่อยไปตามยถากรรมเหมือนอดีตที่ผ่านมา